อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จัดประชุมแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านห้วยห้อม

อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จัดประชุมแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านห้วยห้อม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยจะมีการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของแม่ฮ่องสอน โมเดลที่เคยเรียกร้องต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 นายธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมประชุมโครงการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านห้วยห้อมในเขตป่าอนุรักษ์ ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านห้วยห้อม(ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง) หมู่ที่ 2 ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรเกิดขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ.2504 ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดย พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ได้กำหนดเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ทำกินของราษฎร ที่ราษฎรได้ทำกินในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 จะมีผลใช้บังคับให้เป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติไปด้วย จึงเป็นเหตุให้พื้นที่ทำกินของราษฎรเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวินโดยผลของกฎหมาย อันเป็นการทำให้พื้นที่ทำกินอยู่เดิมของราษฎรเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางรัฐบาลได้มองเห็นความสำคัญของการปัญหา จึงได้มีการจัดตั้งแผนปฏิบัติงาน ในนาม “แม่ฮ่องสอนโมเดล” ซึ่งเป็นการกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยดำเนินการสำรวจให้ได้ความว่าราษฎรที่ได้ทำกินในที่ดินอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ก่อนวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2557 มีบุคคลใดมีพื้นที่ทำกินอยู่ในที่ของอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ใด เนื้อที่จำนวนเท่าใด ซึ่งโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่ราษฎรถือครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นที่ดินที่ราษฎรเป็นผู้ถือครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตาม มาตรา 64 วรรคแรก แห่ง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
ซึ่งวิธีและขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล ซึ่งจะต้องกำหนดพื้นที่ดินแปลงใหญ่แล้วจัดให้ราษฎรที่มีพื้นที่ทำกินกระจายอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ รวมกลุ่มกันเป็นพื้นที่ทำกินที่ดินแปลงใหญ่ เพื่อบริหารจัดการที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันจัดทำโครงการ เช่น กำหนดพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน ที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ป่าชุมชน เป็นต้น
โดยคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้นจะนำ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตาม มาตรา 64 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และเมื่อได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแล้วจะทำให้การถือครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้สืบทอดที่ดินทางมรดก ตกเป็นมรดกแก่ทายาทของผู้ถือครองที่ดิน ห้ามมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่มีปัญหาเกิดมาจาก พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ดังกล่าว และเพื่อทำให้การดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้นโดยสามารถทำกินโดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลโดย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ขึ้น และยกเลิก พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรดังกล่าว และกำหนดขั้นตอนการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ ตาม โครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ให้ไว้ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2562 มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิก
(1) พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504
(2) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ศ. 2532
มาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัย หรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ เมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบาย ในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภายในอุทยานแห่งชาติโดยมิได้สิทธิ์ในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และได้อยู่อาศัยทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 โดยต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการ ซึ่งจัดทำด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือระบบอื่นซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และมีระยะเวลาการบังคับใช้คราวละไม่เกินยี่สิบปีและอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาและคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ หน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยการหรือทำกิน และการสิ้นสุดการอยู่อาศัยหรือทำกิน และมาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินโครงการในกรณีบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินได้ครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม เก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือนำหรือปล่อยสัตว์ ในเขตพื้นที่โครงการตามพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามมาตรานี้ หากการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ และได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแล้วผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

“แม่ฮ่องสอนโมเดล” เป็นโครงการริเริ่มแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร ที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ 1.เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 2.อุทยานแห่งชาติ สำหรับกรณีบ้านห้วยห้อม หมู่ที่ 2 ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่อยู่ในเขตป่าจำนวน 2 แห่ง คือ 1.เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชสาละวิน 2.อุทยานแห่งชาติสาละวิน

ร่วมแสดงความคิดเห็น