สสจ.เปิดแถลงข่าว สถานการณ์ไข้เลือดออก หลังหนูน้อยวัย 12 ปีเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ด้วยสายพันธุ์ “เดงกี่” รายแรกในพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

สสจ.เปิดแถลงข่าว สถานการณ์ไข้เลือดออก หลังหนูน้อยวัย 12 ปีเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ด้วยสายพันธุ์ “เดงกี่” รายแรกในพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เผยมีความรุนแรงมากที่สุดในบรรดา 4 สายพันธุ์ แนะ ปชช.ป้องกัน

 

เมื่อเวลา 14:00 น. วันที่ 28 มิ.ย.62 นางสุธีรัตน์ มหาสิงห์ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดแถลงข่าว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากที่ได้เกิดเหตุกรณี ด.ช.ชานนท์ จอปูตู อายุ 12 ปี ชาว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและได้เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ชื่อดังใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางครอบครัวได้โพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือให้ช่วยกันไปบริจาคเลือด เพื่อเอาไปช่วยยื้อชีวิต แต่ภายหลังกลับพบว่าผู้ป่วยได้มีอาการช็อกเสียเลือดมาก ประกอบกับมีอาการแทรกซ้อน ปอดอักเสบ ลำไส้ติดเชื้อ ไตวาย และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทางญาติได้มีการนำร่างกลับไปบำเพ็ญกุศลที่ วัดมหาโพธิ์ บ้านปางควาย ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ตามที่มีข่าวปรากฎออกมาแล้วนั้น โดยทาง นางสุธีรัตน์ มหาสิงห์ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝนเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงต้องดำเนินการและติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 มิถุนายน 2562 จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 383 ราย เป็นคนไทย 343 ราย คิดเป็น 21.40% และชาวต่างชาติ 40 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอฮอด และอำเภอจอมทอง ตามลำดับ

ขณะเดียวกันในส่วนของเคส ด.ช.ชานนท์ จอปูตู อายุ 12 ปี ชาว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่เสียชีวิตนั้น จากการตรวจสอบทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออก สายพันธุ์ที่ 2 หรือ สายพันธุ์ “เดงกี่” ที่ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเสียชีวิตจากากรติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว โดยจากรายงานทราบว่า ด.ช.ชานนท์ เริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.62 โดยทางผุ้ปกครองได้พาไปคลีนิค รักษาอาการจนกระทั่งถึงวันที่ 23 มิ.ย.62 และได้ไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลฝาง ซึ่งในขณะนั้นเจ้าตัวมีอาการช็อค รวมถึงอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง โดยหลังจากเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลฝางก็ได้ใส่เครื่องช่วยหายใจและส่งตัวมารักษาอาการต่อที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โดยรักษาอาการได้ประมาณ 2 วัน ก็เสียชีวิตลงในที่สุด ทั้งนี้จากการตรวจสอบของทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ทราบว่าก่อนหน้านี้ในพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอยู่แล้ว โดยจากสถิติขณะนี้ทราบว่ามีคนไข้ที่ป่วยทั้งหมดจำนวน 13 ราย และอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตนั้นมาจากเจ้าตัวเป็นคนอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับในช่วงที่มีการเข้าไปรักษาตัวที่คลินิก ซึ่งเป็นคลินิกที่อยู่ภายในหมู่บ้าน และคาดว่าผู้ป่วยน่าจะได้ยาประเภทที่ทำให้เลือดออกมากขึ้น เนื่องจากพบว่าผู้เสียชีวิตนั้นมีอาการเลือดออกมาก รวมถึงผู้เสียชีวิตนั้นมาถึงโรงพยาบาลช้าไป อย่างไรก็ตามจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรค โดยทีมสอบสวนโรคโรงพยาบาลนครพิงค์ ทำการสอบสวนโรค ณ หอผู้ป่วยโรงพยาบาลนครพิงค์ และทีมสอบสวนโรคอำเภอฝางลงพื้นที่สอบสวนการระบาด และควบคุมโรคในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มีการเปิดประชาคมในหมู่บ้าน ให้ความรู้ ทำ Big Cleaning Day และพ่น ULV ในวันที่ 26 มิ.ย.62 สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้สนับสนุนทรายทีมีฟอส, สเปรย์ฆ่ายุง และครีมทากันยุง พร้อมทั้งให้ทางพื้นที่เร่งควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยเร็ว และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดนางสุธีรัตน์ มหาสิงห์ กล่าวย้ำเตือนประชาชนว่า โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขอแนะนำให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดโดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ จะสามารถป้องกันทั้ง 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ไม่สามารถกำจัดได้ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม. ในเขตพื้นที่ของท่าน เพื่อดำเนินการกำจัดต่อไป สำหรับการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน และการป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้ง รวมทั้งการเลี้ยงปลาหางนกยุง การใช้ทรายทีมีฟอส และขัดทำความสะอาดภาชนะสำหรับกักเก็บน้ำ ทุก 7 วัน จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น