(มีคลิป) หนึ่งเดียวในเชียงใหม่! “วังมัจฉา” ที่วัดพญาชมภู ชมฝูงปลาสวายเผือกที่หาดูได้ยาก

“วังมัจฉา”เป็นเขตอภัยทานอยู่บริเวณหน้าวัดพญาชมภู ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เข้าทางแยกจากถนนชุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ 8-9 กิโลเมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ในตำบลเดียวกันกับวัดชื่อดัง เช่น วัดศรีดอนมูล วัดทุ่งขี้เสือ ฯลฯเป็นต้น
เดิมทีนั้นตามประวัติศาสตร์ “พญาชัยชมภู”หรือ “เจ้าพ่อพญาชมภู” ซึ่งเป็นผู้ถือกำเนิดอยู่ ณ แคว้นไทยเดิมบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ในการปกครองครั้งก่อนโน้นมี “พ่อพญาชมภู”กับ “พ่อพญาผาบ”ได้ปกครองบ้านเมืองร่วมกัน แต่จะเป็นเพราะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ พ่อพญาทั้งสองเกิดมีทัศนะไม่ตรงกัน ได้แบ่งกำลังพลออกจากกันเป็นสองก๊กสองเหล่า และได้ยกกำลังพลทั้งสองฝ่ายสู้รบกัน ฝ่ายพ่อพญาชมภูได้พิจารณาทบทวนแล้วว่า ขืนปล่อยให้มีการสู้รบกัน ก็จะเสียกำลังพลโดยเปล่าประโยชน์ จึงตัดสินใจนำกำลังพลล่าถอยลงมาพักยังแคว้นพญามังราย หรือ จ.เชียงราย
ในปัจจุบัน และได้หยุดทัพอยู่ที่ จ.เชียงราย ประมาณ 5 ปี แต่เนื่องจากเห็นว่าภูมิประเทศดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการตั้งหลักปักฐาน จึงได้อพยพลงมาทางใต้มาถึงแคว้นเขลางนคร หรือ จ.ลำปาง ในปัจจุบัน และตั้งหลักปักฐานอยู่ประมาณ 3 ปี แต่แคว้นเขลางนครในสมัยนั้น ยังอยู่ในการปกครองดูแลของพญาผาบ ซึ่งอพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาเช่นกัน จึงได้มีการต่อสู้และขับไล่พ่อพญาชมภูจนต้องถอยหนีอีกครั้งหนึ่งผ่านแคว้นหริภุญชัย หรือ จ.ลำพูน ในปัจจุบัน พ่อพญาชมภูได้อพยพมาจนถึงเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์ หรือเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นมีความเจริญอย่างมาก เนื่องจากพ่อขุนเม็งรายมหาราชได้สร้างความเจริญไว้ ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศเหมาะสมในการตั้งรกราก ท่านเจ้าพ่อพญาชมภูจึงได้ตัดสินใจตั้งหลักปักฐานอยู่ร่วมกับครอบครัวและลูกอีกสามคน ซึ่งได้แก่บริเวณแจ่งขะต้ำในปัจจุบัน และอาศัยอยู่ในที่ดังกล่าวประมาณ 10 ปี
ประมาณปี พ.ศ. 2180 เจ้าพ่อพญาชมภู ได้ทำการสำรวจภูมิประเทศทางด้านทิศใต้ จนได้พบกับสถานที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำมาหากิน ซึ่งชุมชนดังกล่าวคือ “บ้านป่าแดง”และที่นั่นเองเจ้าพ่อพญาชมภูได้พบรักกับ “นางธิ” (หรือแม่อุ้ยธิ ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวพญาชมภูในปัจจุบัน) โดยอยู่กินกันและสร้างบ้านอยู่อาศัยหลังหนึ่ง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ “สถานีอนามัยตำบลชมภู” วันหนึ่งนางธิได้ออกไปเก็บผักตำลึงบริเวณชายป่าใกล้หมู่บ้าน และได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งลักษณะใหญ่โตงดงามเป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารสมัยสุโขทัย ซึ่งบริเวณที่พบเป็นวัดร้าง ป่าแดง ทางเจ้าพ่อพญาชมภูและชาวบ้านได้ปรึกษากันว่า สมควรที่จะบูรณะสถานที่ดังกล่าวให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาสืบไป เมื่อทำการบูรณะเสร็จแล้วจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดพญาชมภู”
หลังจากเจ้าพ่อพญาชมภู ได้นางธิเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ท่านก็ได้พัฒนาสถานที่ทั้งสองแห่งจนเจริญรุ่งเรือง สำหรับบ้านป่าแดงในปัจจุบันได้ยกฐานะเป็น “บ้านพญาชมภู” และตำบลชมภู ขึ้นตรงต่ออำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
และต่อจากนั้นได้มีการสร้างอนุสาวรีย์พ่อพญาชมภูขนาดเท่าพระองค์จริง ตั้งประดิษฐานบริเวณหน้าวัดพญาชมภูเป็นที่เคารพสักการะของชาวตำบลชมภู พร้อมกันนี้ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีวังมัจฉาพญาชมภู เป็นเขตอภัยทานมีฝูงปลาสวายอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฝูงปลาสวายเผือกล้วนขนาดใหญ่ที่หาดูชมได้ยาก ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมาแวะชมให้อาหารปลาที่ทางวัดจัดไว้ให้ และห้ามนำขนมปัง หรือ เศษอาหารอื่นๆมาให้ปลาเนื่องจากน้ำจะเน่าเสียได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น