ประวัติความเป็นมา กู่อัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือเชียงใหม่

ตำแหน่งเจ้าหลวงในเชียงใหม่เริ่มขึ้นในสมัยพญาจ่าบ้าน (บุญมา) หลังจากที่พญาจ่าบ้านได้ร่วมกับพระเจ้ากาวิละขับไล่พม่าพ้นไปจากล้านนาแล้ว พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาพญาจ่าบ้านเป็นพระยาเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นเจ้าหลวงองค์แรกแห่งนครเชียงใหม่ แต่เวลานั้นพญาจ่าบ้านก็มิได้ครองเชียงใหม่ด้วยมีไพร่พลน้อยเกินกว่าจะดูแลเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทิ้งร้างมานานได้ จนมาในสมัยของพระเจ้ากาวิละแห่งตระกูลเจ้าเจ็ดตน บทบาทและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหลวงก็เริ่มชัดเจนขึ้น อาทิ การขึ้นเป็นเจ้าหลวงจะต้องผ่านพิธีตามโบราณราชประเพณีแต่ครั้งราชวงศ์มังรายคือ พิธีราชาภิเษกและพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเสียก่อน
การสถาปนาระบบเจ้าผู้ครองนครขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้ากาวิละ เมื่อปี พ.ศ.2317 มีเจ้าหลวง หรือ เจ้าผู้ครองนคร ปกครองหัวเมืองในล้านนามาแล้วหลายสิบพระองค์ ภายหลังที่เจ้าผู้ครองนครเหล่านี้ได้ถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เจ้าหลวงองค์ต่อมาก็ได้มีการสร้างกู่บรรจุอัฐิไว้เพื่อให้ลูกหลานในสายสกุลได้กราบไหว้บูชา กู่บรรจุอัฐิของเจ้าหลวงเชียงใหม่และเจ้านายในสายสกุล ณ เชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ภายในวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นสุสานหลวงที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิของเจ้าหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ครองนคร เชียงใหม่มาประดิษฐานรวมกัน ณ บริเวณลาน วัดสวนดอก (พระอารามหลวง) โดยเกิดจากพระดำริเมื่อปี พ.ศ.2452 พระราชชายาดารารัศมีทรงพิจารณาเห็นว่า (กู่) อนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระญาติพระวงศ์ทั้งหลายตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันตกนั้น (บริเวณตรอกข่วงเมรุตลาดวโรรส) ไม่เหมาะสมดังนั้นจึงคิดที่จะหาที่ใหม่ซึ่งก็คือบริเวณวัดสวนดอกในปัจจุบัน มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ภายหลังเมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายา สิ้นพระชนม์ ได้อัญเชิญพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือแห่งนี้ด้วย
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ประกอบไปด้วยกู่จำนวนมาก ซึ่งภายในกู่จะบรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์ที่สำคัญ ดังนี้

1.กู่พระเจ้ากาวิละ
2.กู่พระยาธรรมลังกา
3.กู่พระยาคำฟั่น
4.กู่พระยาพุทธวงศ์
5.กู่พระเจ้ามโหตรประเทศ
6.กู่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์
7.กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์
8.กู่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
9.กู่เจ้าแก้วนวรัฐ
10.กู่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
11.กู่แม่เจ้าอุษา
12.กู่แม่เจ้าทิพย์เกษร
13.กู่แม่เจ้ารินคำ
14.กู่แม่เจ้าพิณทอง
15.กู่แม่เจ้าจามรี
16.กู่เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่)
17.กู่เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่)
18.กู่เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่)
19.กู่ท่านผู้หญิงฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี และกู่เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น