ขอมติชาวบ้าน ดันตั้งจังหวัดจอมทอง แยกจากเชียงใหม่

การเรียกร้องจากผู้นำชุมชนและชาวบ้านส่วนหนึ่งของจ.เชียงใหม่ ด้วยข้ออ้างความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ งบประมาณในอำเภอรอบนอกกับ เขตเมืองและใกล้เคียงแตกต่างกัน รวมถึงปัญหาระยะทางและความไม่สดวกในการเดินทางช่วงฤดูฝน เป็นต้นทำให้เกิดกระแส ขอเสียงชาวบ้าน “เห็นสมควรจัดตั้งจังหวัดจอมทองหรือไม่” เริ่มเป็นกระแสในกลุ่มชาวจอมทองและอำเภอใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในขณะนี้การจัดตั้ง จ.ฝางนั้น ผ่านขั้นตอนขอประชามติชาวบ้านไปแล้ว เพราะมีการนำเสนอร่างพรบ.จัดตั้งจังหวัดฝาง มีการรับเรื่องจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 20 ม.ค. 2554 ซึ่งครั้งนั้นนายบดินทร์ กินาวงศ์ เป็นผู้แทนเสนอให้ประธานรัฐสภา เมื่อ 15 มิ.ย. 2552
บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่าง พรบ.จัดตั้งจ.ฝาง ระบุเหตุผลว่าเนื่องจากจ.เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากอาณาเขตกว้างขวาง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกด้านต่าง ๆ ในการติดต่อราชการ ในมาตรา 3 ของร่าง กำหนดแยก อ.ฝาง แม่อาย และไชยปราการ ออกจาก จ.เชียงใหม่เพื่อจัดตั้งเป็นจังหวัด มติให้มีการจัดตั้ง จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย เมื่อ 3 สค. 2553 ส่งผลต่อความเคลื่อนไหว ให้หลายภาคส่วนทั้งผู้นำชุมชน ตลอดจนประชาชนส่วนหนึ่งในหลาย ๆ จังหวัด นำเสนอแนวทางจัดตั้งจังหวัดใหม่อย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้รวมถึง จ.ไชยปราการ ช่วงที่สมัครสุนทรเวชเป็นผู้นำรัฐบาล มีแนวคิดที่จะรวมเอาอ.ฝาง แม่อาย เวียงแหง พร้อมยกฐานะกิ่งอ.เวียงคำ กับ กิ่งอ.หมอกฟ้า โดยจะใช้ต.แม่ข่า กับต.ท่าตอน ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอใหม่ พยายามให้เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจัดตั้งจังหวัดให้มากที่สุดแต่ไม่ผ่านการอนุมัติ เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล
ทั้งนี้ตามมติครม 8 ธ.ค. 2524 เงื่อนไขหลักเกณฑ์หลัก ๆ คือจังหวัดที่จะแบ่งแยกควรมีเนื้อที่ 1 หมื่น ตร.ก.ม.ขึ้นไป เมื่อแยกไปจังหวัดเดิมควรมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 5 พัน ตร.ก.ม. จังหวัดตั้งใหม่ควรมีเนื้อที่ 5 พันตร.ก.ม.ขึ้นไป  จังหวัดที่จะแบ่งแยกควรมีอำเภอในเขตปกครองจำนวนไม่น้อยกว่า 12 อำเภอและกิ่งอำเภอ เมื่อแยกไปจังหวัดเดิมควรมีอำเภอและกิ่งอำเภอในเขตปกครองไม่น้อยกว่า 6 อำเภอและกิ่งอำเภอ เช่นเดียวกับจังหวัดที่ตั้งใหม่จังหวัดที่จะแบ่งแยกควรมีประชากรไม่น้อยกว่า 6 แสนคน และเมื่อแยกไปแล้ว จังหวัดเดิมและใหม่ควรมีไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 3 แสนคน ลักษณะพิเศษของจังหวัด เช่น เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและนโยบายของรัฐบาล ความมั่นคงชายแดน เป็นต้น
ผลดีในการให้บริการประชาชน ปัจจัยเกี่ยวกับสถานที่ราชการที่มีอยู่แล้ว อาทิ มีหน่วยงานราชการที่จำเป็นอยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะศาลจังหวัด เรือนจำ มีพื้นที่จัดตั้งศูนย์ราชการ และบ้านพักโดยไม่ต้องใช้จ่ายงบแผ่นดิน และความพร้อมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ความคิดเห็นของประชาชนและจังหวัด รายได้ของจังหวัดเดิม เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีสรรพากร เป็นต้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท และเมื่อแยกไป จังหวัดเดิมและใหม่ควรมีรายได้คงเหลือไม่น้อยกว่าแห่งละ 2.5 ล้านบาทอาจะมีข้อโต้เถียงว่า แม่ฮ่องสอนมีราวๆ 2.8 แสนคนก็ยังเป็นจังหวัดได้ เพราะเข้าเงื่อนไขหลายๆเกณฑ์ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ความพร้อมในการจัดตั้ง เช่นเดียวกับจ.พะเยา ที่แยกออกมาจาก จ.เชียงราย หลาย ๆ จังหวัดยุบเลิกก็มี เช่น จ.ธัญบุรีรวมเข้ากับจ.ปทุมธานี ยุบเลิกจ.หลังสวน รวมเป็นจ.ชุมพร เป็นต้น
สำหรับ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่กว่า 2 หมื่น ตร.กม. มี 25 อำเภอ มีประชากรกว่า 1.7 ล้านคน ตั้งแต่ปีพศ.2476 มีการจัดตั้งอำเภอที่แยกจาก จอมทอง 2 อำเภอคือ แม่แจ่ม แยกเมื่อ 5 มิย.2499 ดอยหล่อ แยกเมื่อ 24 สค.2540 ต่อมาจัดตั้ง อ.กัลยาณิวัฒนา แยกจาก อ.แม่แจ่ม เมื่อ 25 ธ.ค. 2552 หากรวม(พื้นที่-อปท)อ.ดอยเต่า (803-6) ดอยหล่อ(260-4) แม่แจ่ม (2,687-7) จอมทอง (712-6 ),ฮอด ( 1,430-6) และกัลยาณิวัฒนา (674-3) เป็น จ.จอมทอง จะมีพื้นที่ 6 อำเภอ ราวๆ 6,555 ตร.กม. มีจำนวน อปท. 32 แห่ง
ซึ่งปัจจุบัน มีการจัดตั้งเขตปกครองศาล จ.ฮอด มีศูนย์บริการ สาขาตอนใต้ของ อบจ.เชียงใหม่ที่ จอมทอง ศักยภาพความพร้อม ครบเครื่องมากกว่า จ.ฝาง แต่อย่าลืมว่ามีการนำเสนอผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแนวทาง จ.ไชยปราการ และ จ.ฝาง ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปีนี้เป็นปรากฎการณ์ที่แปลกใหม่กับการนำเสนอแนวทาง จัดตั้ง จ.จอมทองและ จ.ฝาง ขึ้นมาอีกระลอกท่ามกลางความคิดเห็น เห็นผลที่หลากหลาย ท้ายที่สุดแล้ว ทุกข์ สุข ชาวบ้านจะเป็นปัจจัยชี้วัด เป็นแรงผลักสู่เป้าหมายที่กำหนดร่วมกันเป็นส่วนใหญ่

ร่วมแสดงความคิดเห็น