คนเมืองเชียงใหม่ กับวิธีการ “อู้กำเมือง”

อักษรล้านนาและภาษาคำเมืองเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยไหน ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เท่าที่นักวิชาการได้ทำการสืบค้นจากศิลาจารึกในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชยพบว่า อักษรที่ใช้ในแผ่นดินล้านนานั้นแบ่งออกเป็น  2 ยุค คือยุคแรกระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ใช้อักษรมอญ ส่วนในยุคหลังอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 เป็นอักษรล้านนา ขณะที่ภาษาคำเมืองนั้นไม่ปรากฏหลักฐานและตำนานใด ๆ กล่าวถึงว่าเริ่มต้นใช้ในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเป็นภาษาที่แพร่อยู่ในดินแดนแถบล้านนาตั้งแต่แคว้นสิบสองปันนาตอนใต้ของจีน เรื่อยมาจนถึงเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มคนตระกูลไตหรือไท
ภาษาล้านนา หรือ คำเมือง เป็นภาษาประจำอาณาจักรล้านนา จากประวัติศาสตร์จะเห็นว่ามีจารึกของอักษรล้านนาเมื่อราว 500 ปีก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าภาษาล้านนาเป็นภาษาที่เกิดขึ้นประมาณกว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว ซึ่งมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน จากวรรณกรรมต่าง ๆ ที่มีการบันทึกเป็นภาษาล้านนา ไม่ว่าจะเป็น จามเทวีวงศ์ สิหิงคนิทาน พงศาวดารโยนก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หรือแม้แต่นิราศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง นิราศหริภุญไชยหรือ กะโลงเมิงเป้า ก็ได้มีการจารึกอักษรล้านนาอยู่ก่อนแล้ว ที่สำคัญคือมีการใช้อักษรล้านนาจารึกอยู่ในพระไตรปิฏก ในการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งแรกของแผ่นดินล้านนา เมื่อปี พ.ศ.2020 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณกรรมล้านนา

หลังจากนั้นก็ได้มีการแจกจ่ายใบลานพระไตรปิฏกไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น สิบสองปันนา หลวงพระบางและหัวเมืองของอาณาจักรล้านนา นอกจากนั้นก็ได้มีการเรียนรู้วรรณกรรมกันอย่างแพร่หลายตามพื้นบ้านล้านนา มีศิลปินชาวบ้านพูดคุยทักทายกันด้วยสำเนียงที่มีระบบระเบียบไพเราะสวยงาม เช่น ค่าว ซอ กาพย์ เจี้ย จ้อย กะโลง ฯลฯ อักษรไทยล้านนา หรือ อักษรธรรม เคยได้รับความนิยมสูงสุดระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 – 24 หลังจากนั้นก็ถูกแทนที่ด้วยอักษรไทยกลาง อย่างไรก็ตาม อาจารย์สนั่น ธรรมธิ หนึ่งในผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์ของอักษรล้านนาจากสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า อักษรล้านนาที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นอักษรที่ใช้กันเมื่อราว 200 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในสมัยพระเจ้ากาวิละหรือต้นรัตนโกสินทร์ ในสมัยนั้นอักษรล้านนาเริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกลุ่มชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านคนเมืองเชียงใหม่ได้กันไปสนใจอักษรไทยภาคกลางและการพูดภาษากลางมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งทำให้เด็กรุ่นใหม่มีการพูดภาษาไทยภาคกลางกันเป็นจำนวนมาก บางคนมีพ่อแม่เป็นคนเมืองแต่กลับพูดภาษาเหนือไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกและหลายฝ่ายได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาก็เริ่มมีการรณรงค์ให้เด็กหันมาพูดภาษาคำเมืองมากยิ่งขึ้น และมีองค์กรภาคเอกชนหลายองค์กรได้รณรงค์ให้ชาวเหนือหวนกลับมาพูดภาษาคำเมืองและหัดเขียนตัวอักษรล้านนากันมากขึ้น

ซึ่งจากความสำคัญและร่วมปลุกจิตสำนึกให้คนเมืองพูดคำเมืองกันมากขึ้น ปัญหาของวัยรุ่นเชียงใหม่ที่มีการพูดคำเมืองน้อยลง จากผลงานการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ภาษาคำเมืองในกลุ่มวัยรุ่นเชียงใหม่พบว่า กว่าร้อยละ 84 อยากให้มีการรณรงค์ใหัมีการใช้ภาษาคำเมืองมากยิ่งขึ้น เพราะภาษาคำเมืองเป็นภาษาที่ฟังง่ายมีความไพเราะในตัวเอง ขณะที่ร้อยละ 50 บอกว่าวัยรุ่นเชียงใหม่ควรหันมาพูดคำเมืองกันทุกคน ซึ่งปัญหาดังกล่าวกวีซีไรท์อย่างมาลา คำจันทร์ ได้ให้ทัศนะว่า “เราจะไปโทษเด็กไม่ได้ แต่เราในฐานะผู้ใหญ่จะต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่ไปโทษที่เด็กอย่างเดียว พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ จะต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึกให้เด็กเห็นคุณค่าของการพูดคำเมือง เมื่อใดก็ตามที่เรายังคิดว่าการพูดคำเมืองของเรานั้นเป็นสิ่งไม่ดี พูดแล้วไม่เท่ พากันสอนลูกสอนหลานให้พูดแต่ภาษาไทยกลาง ถ้าเรายังคิดที่อยากจะเป็นคนอื่นเห็นคนอื่นดีกว่า เมื่อนั้นเราก็ไม่สามารถเป็นตัวของเราเองได้”อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวโน้มของวัยรุ่นเชียงใหม่ในการพูดคำเมืองจะเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ได้มีการปลูกจิตสำนึกให้เด็กได้เห็นความสำคัญของการพูดคำเมืองให้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตแล้วนั้น อ.สนั่น ธรรมธิกล่าวว่า “ในอดีตการพูดคำเมืองดูจะเป็นเรื่องที่เชย ไม่ทันสมัย โรงเรียนต่าง ๆ ได้สอนให้เด็กพูดภาษาไทยกลาง ถ้าหากใครพูดภาษาคำเมืองก็จะโดนปรับและหักคะแนน สมัยนั้นถึงกับมีการติดประกาศภายในโรงเรียนด้วยว่า “เขตปลอดภาษาถิ่น” หากนักเรียนคนไหนต้องการจะพูดคำเมืองก็ให้ไปพูดกันในห้องน้ำ ซึ่งเป็นอย่างนี้จริง ๆ”

ปัจจุบันเมื่อมีหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษาเริ่มเห็นความสำคัญของการพูดคำเมือง  มีการรณรงค์ให้เด็กหันมาพูดคำเมืองโดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำเมืองมากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่คนเชียงใหม่รุ่นใหม่เห็นคุณค่าของภาษาถิ่นที่เป็น
เอกลักษณ์และพากันพูดคำเมืองมากยิ่งขึ้น.
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น