วันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8

วันเข้าพรรษา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยปี 2562 ตรงกับวันพุธ ที่ 17 กรกฎาคม หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 มาย้อนดูประวัติวันเข้าพรรษา ความสำคัญและกิจกรรมวันนี้มีอะไรบ้าง 
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่า จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน ที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า “จำพรรษา” นั่นเอง
“เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษา ให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน
พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้ จะได้รับอานิสงส์ อย่างสูง ประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ “ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา”
ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า–เย็น และในโอกาสนี้ จะต้องมีธูป-เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อม ใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
          – ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
          – ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร
          – ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
          – อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ
www1.culture.go.th 
เว็บไซต์ธรรมะไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น