“โรคลายม์” โรคร้ายที่มากับเห็บของสัตว์ ติดต่อจากสัตว์สู่คน ไม่ติดต่อจากคนสู่คน

จากกรณีที่มีสาวไทยวัย 47 ปี ป่วยเป็นโรคลายม์ เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งเธอติดเชื้อชนิดหนึ่งมาจากประเทศตุรกี จนเป็นเหตุให้เกิดอาการโคม่า หัวใจเต้นช้า หมดสติ และความทรงจำหายบางส่วน นั้น
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสาเหตุว่า “โรคลายม์ มาจากการที่คนถูกเห็บที่มีเชื้อเชื้อแบคทีเรียโบเรลเลีย กัด หรือไปอยู่ตามพื้นที่ที่มีเห็บอาศัยอยู่ เช่น ต้นไม้ หรือพุ่มไม้ที่มีเห็บเกาะอยู่ เนื่องจากสัตว์เดินเข้าไปในพุ่มไม้ แล้วเห็บกระโดดออกมาเกาะอยู่ตามพุ่มไม้ต่าง ๆ ฉะนั้น “โรคลายม์” จึงไม่ติดต่อจากคนไปสู่คน แต่จะติดจากสัตว์ไปสู่คน ซึ่งเห็บดังกล่าว จะอาศัยอยู่กับสัตว์ต่าง ๆ เช่น สุนัข โค ม้า เป็นต้น
ที่ผ่านมาข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคลายม์ ที่ติดเชื้อภายในประเทศไทย ฉะนั้นจึงประเมินได้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยง ที่จะมีผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าว
นพ.สุวรรณชัย แนะนำต่ออีกว่า “หากคุณมีสัตว์เลี้ยงที่จำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน คุณควรดูแลเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ทำความสะอาด, ใส่ยาฆ่าเห็บ แล้วพาไปพบสัตวแพทย์ อาการของผู้ป่วยโรคลายม์จะขึ้นอยู่กับเชื้อที่บุคคลนั้นๆ ได้รับ โดยเชื้อจะมีระยะเวลาฟักตัว 2-4 สัปดาห์ ถึงจะมีอาการ ขณะที่ ลักษณะของอาการจะมีตั้งแต่ เป็นไข้, ปวดตามเนื้อตามตัว, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย แต่จะมีบางรายที่มีอาการ หัวใจเต้นผิดปกติ, เจ็บหน้าอก, มีปัญหาในเรื่องของการได้ยินที่ลดลง, กล้ามเนื้อหน้าเคลื่อนไหวผิดปกติ, ปวดข้อ, บริเวณที่โดนกัดจะมีผื่นวงแดง”
อย่างไรก็ตาม นพ.สุวรรณชัย แสดงความห่วงใย “ในแต่ละประเทศ จะมีโรคประจำถิ่นของตัวเอง เพราะฉะนั้นประชาชนควรทำการบ้านก่อนเดินทางว่า ประเทศที่คุณกำลังจะเดินทางไป มีโรคลายม์ หรือโรคประจำถิ่นอื่นๆ อยู่หรือไม่ เพื่อที่คุณจะได้รู้เท่าทัน และรู้จักป้องกันตนให้ดี”

ร่วมแสดงความคิดเห็น