เขื่อนแม่กวงวิกฤติเท่าปี 58 พ่อเมืองเชียงใหม่เรียกถกด่วนรับวิกฤติแล้งยกเป็นวาระจังหวัด 

วันที่ 19 ก.ค. 62 ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและน้ำแล้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่าจังหวัดเชียงใหม่มีความห่วงใยอย่างมากเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าสถานการณ์มีแนวโน้มสูง อีกประการปีนี้ช่วงต้นฤดูฝนมีฝนในน้อยมาก เบื้องทางจังหวัดได้เรียกประชุมนายอำเภอ เพื่อให้ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งไปพร้อมกัน เรื่องน้ำท่วมก็ต้องเฝ้าระวังเพราะยังอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ให้บริหารจัดการน้ำในสภาวะแล้งไปพร้อมกันด้วย
“ได้กำชับให้บริหารน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เป็นเรื่องแรก ซึ่งเรื่องสำคัญ เน้นย้ำกับนายอำเภอให้ไปสำรวจความแห้งแล้งในแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ของตนเอง ให้ลงลึกลงไปในข้อมูลส่วนต่างๆ แล้วประสานงานในเรื่องการทำฝายในพื้นที่ เพื่อให้กั้นน้ำเก็บไว้ ดูแลเรื่องการซ่อมแซมภาชนะเก็บกักน้ำเพื่อการบริโภคของพี่น้องประชาชน รวมถึงดูการขุดลอกแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งรับน้ำฝนไว้ด้วย ทั้งนี้ในวันเสาร์ที่ 20 ก.ค. 62 นี้ จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวเกี่ยวข้องกับน้ำ ทั้งเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ชลประทานเชียงใหม่ และหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย เพื่อหารือถึงปริมาณน้ำที่ชัดเจนร่วมกัน กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ ซึ่งประเด็นปัญหาถือได้ว่า เป็นวาระจังหวัด แล้วจะต้องรีบทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ทั้งการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
ด้าน นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนแม่กวง มาจนถึงปัจจุบัน รวม 27 ปี ปีนี้เป็นปีที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนใกล้เคียงกับปี 2558 ทำให้สถานการณ์น้ำตอนนี้ไม่ปกติ คือ อยู่ในช่วงฤดูฝนแล้วแต่ฝนทิ้งช่วงและตกในพื้นที่ด้วยปริมาณที่น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 44 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่างๆ น้อยกว่าเกณฑ์และสถานการณ์ปกติที่ควรจะเป็นอยู่ 55 เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนแม่กวงฯ มีพื้นที่บริการ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สันทราย ดอยสะเก็ด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
นายเจนศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้โครงการเขื่อนแม่กวงฯ ได้มีการตรวจสอบพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลน้ำท่าและน้ำฝน พร้อมทั้งรายงานแนวโน้มสถานการณ์ให้พื้นที่รับทราบ โดยเน้นไปที่ นายอำเภอ เกษตรอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันไปแล้วเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงให้กลุ่มผู้ใช้น้ำรับทราบว่า ปีนี้มีน้ำน้อยมาก แต่เกษตรกรที่ร่วมประชุมยังยืนยันว่าอยากให้มีการส่งน้ำรอบที่สอง ซึ่งกำหนดส่งในวันที่ 29 ก.ค. นี้ แม้วมีการชี้แจงไปว่าขอให้รอดูสถานการณ์ฝนได้หรือไม่ แต่ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำยืนยันว่า ได้ลงทุนทั้งการหว่านกล้าเมล็ดพันธุ์และการเตรียมแปลงปลูกข้าวนาปีไปแล้ว อย่างไรก็ต้องปลูก หากไม่มีน้ำเข้ามาจะทำให้ข้าวตาย
ทั้งนี้บทสรุปของการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 62 ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมรับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำ และตัดสินใจที่จะขอส่งน้ำในรอบที่ 2 ช่วงวันที่ 29 ก.ค.ถึงวันที่ 4 ส.ค. 62 โดยถ้าหากมีฝนตกในพื้นที่ให้หยุดส่งน้ำได้ กำหนดจะให้มีการประชุมในพื้นที่จนครบทั้ง 2 จังหวัด 5 อำเภอ คือ ดอยสะเก็ดประชุมในวันนี้ อ.สันกำแพง ประชุมวันที่ 23 ก.ค. อ.สันทราย ประชุมวันที่ 2 ส.ค. อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ประชุมวันที่ 24 ก.ค. และ อ.เมืองลำพูน ประชุมวันที่ 26 ก.ค. 62 ในส่วนคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานจะนัดหมายประชุมเพื่อพิจารณาในภาพรวมการส่งน้ำรอบ 2 อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 26 ก.ค. 62 โดยที่ประชุมมอบหมายให้ นายกิตติ์วริศ ภัคเชียรโชติ หน.ฝ่ายส่งน้ำฯ ที่ 2 ดูแลพื้นที่ดอยสะเก็ด ส่งข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำฝน พร้อมแนวโน้มสถานการณ์รายวัน ให้ผู้นำท้องที่ในไลน์กลุ่มผู้นำ อ.ดอยสะเก็ด ทุกเช้าเวลา 09:00 น และทางโครงการฯ แม่กวง จะสรุปข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำท่าน้ำฝนพร้อมแนวโน้มสถานการณ์รายสัปดาห์ให้ อปท. ทั้ง 33 แห่งได้รับทราบ
ด้านนายสุรพงษ์ รุ่งเรือง อดีตประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ อ.พร้าว รายงานด้วยภาพถึงพื้นที่การเกษตรในเขต อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีสภาพดินแยกแตกระแหง สภาพต้นไม้ พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไว้ยืนต้นตายไปแล้วบางส่วน พร้อมกับรายงานว่า ที่บ้าน นายธนะพงษ์ วงค์จักร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านแม่บอน ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พร้อมกับราษฎรในหมู่บ้านร่วมกันนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีทำบุญ มีเทศนาธรรมที่ชื่อ “ธรรมปลาช่อน” ซึ่งเป็นความเชื่อว่า ธรรมปลาช่องช่วงดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล หรือการขอฝน ให้ตกลงมา เพื่อสรรพสัตว์สิ่งมีชีวิตจะได้ไม่ตาย รวมทั้งผู้คนด้วย เชื่อว่าจะทำให้พืชพันธุ์อาหารสมบูรณ์ เทศธรรมปลาช่อนเคยทำกันมาแล้วหลายชั่วคน

ร่วมแสดงความคิดเห็น