แมสคอมฯ-วิทยาลัยศิลปะ สื่อฯ มช. ทำ MOU พัฒนาหลักสูตรภาพยนตร์ดิจิทัลรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมภาพยนตร์

คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติและบริษัททรานฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรภาพยนตร์ดิจิทัล สร้างบุคลากรรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เริ่มปีการศึกษา 2562 นี้
วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.00 น. ที่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะการสื่อสารมวลชนกับสมาพันธ์สมาคมแห่งชาติ และบริษัท ทรานฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด โดยมี รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามความร่วมมือกับนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และนายอุทัย คุ้มคง ตัวแทนบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด
โดย รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนเพื่อบูรณาการความรู้ด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านการสื่อสารมวลชนในบริบทของการสร้างภาพยนตร์ดิจิทัล ทั้งนี้หลักสูตรภาพยนตร์ดิจิทัล เกิดจากความร่วมมือของคณะการสื่อสารมวลชนและวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยเป็นหลักสูตร 2 ภาษา เริ่มทำการสอน ในภาคการศึกษา 2562 นี้ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีทักษะเชียวชาญเฉพาะด้าน ทางด้านภาพยนตร์ศึกษา การบริหารจัดการภาพยนตร์ และการผลิตภาพยนตร์ โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟฟิคที่ทันสมัย พร้อมที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และนักศึกษาในหลักสูตรจะได้เข้าฝึกงานในแผนกต่างๆ ในรูปแบบสหกิจศึกษา รวมทั้งคณาจารย์จะได้เข้าศึกษาดูงานหรือเข้ารับการฝึกอบรม กับทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี
ด้านนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติยินดีให้ความร่วมมือในการให้ความเห็นต่อการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ของคณะฯ เพื่อให้หลักสูตรสอดคล้องกับบริบทการสร้างภาพยนตร์ดิจิทัลที่กำลังเติบโตในยุคปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทรัพยากรบุคคลรองรับอย่างมีคุณภาพ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจึงเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่นายอุทัย คุ้มคง ตัวแทนบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์ที่มีความรู้ ความสามารถ และสามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานในองค์การวิชาชีพสื่อภาพยนตร์ดิจิทัลต่อไปอย่างมีคุณภาพ ควบคู่กับการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีทางภาพยนตร์เวลานี้ สถาบันการศึกษามีการพัฒนาหลักสูตรและบุคลากรถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยทางบริษัทฯพร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งรับนักศึกษาฝึกงานและอบรม รวมถึงด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดหลักสูตรที่ดีและตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น