สจล.ร่วมกับ มช.จัดอบรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง สู่สังคมดิจิทัลในอนาคต

วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายภาคเหนือ จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง สู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยมีรศ.ธีรวัฒน์ ประกอบผล จากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน วิทยาการคำนวณ เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม ณ โรงแรมเมอร์เคียว จังหวัดเชียงใหม่
 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิดา จำรัส ภาควิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการภาคเหนือ กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง สู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยมี ศูนย์เครือข่าย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการเขตภาคเหนือ จำนวน 4 รุ่น ในครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม2562 ณ โรงแรมเมอร์เคียว จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมการประชุม ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตรฐาน ว.4.2 วิทยาการคำนวณ
เข้าร่วมประชุมจำนวน 200 คน
การจัดการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และ ดำเนินการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล อันเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลและเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรทางการศึกษา ในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาการคำนวณตลอดจนการโค้ดดิ้ง ให้สามารถจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนได้อย่างประสิทธิผล
ซึ่งเป็นการพัฒนาทั้งกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ตลอดจนสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ในอนาคต อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้การโค้ดดิ้ง และความรู้ดิจิทัลพื้นฐาน อันจะเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ด้านการศึกษาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมต่อไป
ครูที่ผ่านการอบรมสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ วิทยาการคำนวณ ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ ผ่านการปฏิบัติจริงโดยใช้สื่อการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานหรือในชีวิตจริงโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงคำนวณในการพัฒนาโครงงานเพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายการเรียนรู้ มีทักษะด้านโค้ดดิ้ง และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรมในอนาคตต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น