แล้งซ้ำซาก ภาคเหนือเสี่ยงเป็นทะเลทราย

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของไทย อ้างข้อมูลการศึกษาสำรวจ ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้หลายพื้นที่ของไทยเสี่ยงต่อภาวะ “แล้งซ้ำซาก” ลามหนักจนอาจนำไปสู่การเกิดทะเลทราย โดยสภาพภูมิศาสตร์ของโลก มีทะเลทราย 1 ใน 5 ของพื้นโลกและ 2 ใน 3 เป็นพื้นน้ำ ปกติเขตภูมิอากาศแบบทะเลทรายจะพบเห็นระหว่างละติจูด 15-30 องศาทั้งเหนือ-ใต้ เช่น แถว ๆ ตอนเหนือของแอฟริกา, คาบสมุทรอาหรับ, มณฑลซินเจียงของจีน และมองโกเลีย เป็นต้นถ้าแบ่งตามเขตภูมิอากาศโดยอาศัยหยาดน้ำฟ้า ที่แวดวงวิชาการภูมิศาสตร์จัดแบ่งจะมี 5 แบบ ถ้ามีปริมาณน้ำฝน 0-250 มิลลิเมตร ต่อปี จะเป็นเขตภูมิอากาศแห้งแล้ง ในไทยอยู่ในระดับ 1,200-1,600 มม. ต่อปี จัดอยู่ในกลุ่มที่ 4 คือ ภูมิอากาศชุ่มชื้น รายงานด้านสิ่งแวดล้อมโลกของ ยูเอ็น ระบุ พื้นที่จะกลายสภาพเป็นทะเลทรายเพิ่มขึ้นทุกปี เกิดขึ้นทั่วโลกราว ๆ 37-38 ล้านไร่
จากการสำรวจของนักวิชาการ ด้านพัฒนาที่ดิน ยืนยันว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดความแห้งแล้งถาวร ถึงขั้นไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้หลายพื้นที่ แบ่งเป็นที่ราบ 2.39 ล้านไร่และที่สูง 4.54 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
มีสาเหตุหลัก ๆ หลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน การทำเกษตรกรรมแบบเร่งรัด การแผ้วถางเพาะปลูกบนพื้นที่ลาดชัน การใช้สารเคมีมากเกินไป การบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่า การใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ รวมถึงการเผาป่า เมื่อดินขาดความชุ่มชื้น เสื่อมโทรม เป็นเวลา 5-10 ปี ก็จะเริ่มก่อตัว เป็นพื้นที่จะกลายเป็นทะเลทรายได้ และไม่ใช่เพียงการบุกรุกพื้นที่ป่า ขยายการเพาะปลูก ไฟป่า เท่านั้น การพัฒนาเมืองและขยายชุมชน ก็เป็นสาเหตุอีกด้านที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้น ด้วยพื้นผิวดินตามธรรมชาติถูกคลุมทับด้วยคอนกรีต น้ำฝนไม่สามารถซึมลงสู่ใต้ดินได้ดังนั้นเมืองน่าอยู่ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตต้องมีสวนสาธารณะในเมืองอย่างเพียงพอ มีกฎหมาย กำหนดอัตราส่วนของพื้นที่อาคารสูงต่อพื้นที่ราบให้เหมาะสม ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามีหลายปัจจัยทำให้เกิดภัยแล้งทั้งสภาพอากาศ, ลมมรสุม, ตำแหน่งร่องมรสุม
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน, การพัฒนาด้านต่าง ๆ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในขั้นที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย แต่ก็การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หลาย ๆ จังหวัด เสี่ยงต่อภาวะแล้งนาน ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เสี่ยงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายในระดับรุนแรง 6.93 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 2.17 ของพื้นที่ทั่วไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รายงานด้านสิ่งแวดล้อมไทย ระบุภาวะการเกิดภัยแล้งในไทยจะมี 2 ช่วง เป็นปกติ คือ ระหว่างตุลาคม – กุมภาพันธ์ทุกปี เป็นช่วงสิ้นสุดฤดูฝน ถึงปลายหนาว และจะมีความแห้งแล้งสะสม นำไปสู่การเกิดไฟป่า ทำให้โครงสร้างดิน ถูกทำลายเสื่อมโทรมหนักขึ้น ช่วงที่ 2 คือ ระหว่าง พฤษภาคม – ตุลาคม ระยะนี้ภาคเหนือตอนบนมักจะเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงนานระหว่าง มิถุนายน – กรกฎาคม ทำให้ภัยแล้งแล้ง ซ้ำเติมแหล่งเพาะปลูก เป็นปัญหาสั่งสมทุกๆปี
ภัยแล้งในบ้านเรา มักเกิดจากฝนทิ้งช่วง, การบริหารจัดการน้ำ ตามแผน นโยบาย ยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา แก้ไขตั้งแต่ อดีต ถ้าย้อนไปราว ๆ พ.ศ. 2495 เชียงใหม่เกิดภัยแล้ง ลามหนัก จนนำไปสู่การสร้างเขื่อนแม่งัดฯ ขึ้นมา ในช่วง ปี 2520 และต่อมาปี 2530 มีการก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
จากนั้นช่วงปี 2558-2564 ก็กำลังดำเนินการ ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ (แม่แตง-แม่งัด-แม่กวง) มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหา ภัยแล้ง, อุทกภัย การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 3-4 แสนไร่ ปัญหาภัยแล้งในรอบ 50-60 ปี ยังเป็นวิกฤตที่มีผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตร
มีการสรุปความเสียหาย เชิงมูลค่าช่วง ปี พ.ศ. 2532-2546 พบว่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท วิกฤติภัยแล้ง บางปี มีความเสียหายนับล้านล้านบาท และจากพื้นที่ 75,033 หมู่บ้าน ใน 7,255 ตำบล 878 อำเภอ 77 จังหวัดนั้น กว่าครึ่งจะเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้ง และ น้ำท่วมซ้ำซากทุก ๆ ปี มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในสังคมไทย นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่าไม่ควรยึดโยงอภิมหาโครงการก่อสร้างลงทุนเป็นหลักแต่ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการจัดการอย่างเข้าถึง เข้าใจ ตรงเป้าหมาย มีขั้นตอนง่าย ๆ ตั้งแต่ การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมีจำนวนมาก ไม่เป็นหนึ่งเดียว ควรร่วมคิด ร่วมทำ ต้องบูรณาการ เรียนรู้ประสบการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดล้มเหลวซ้ำซากดังที่เคยเกิดขึ้นและเป็นมาในอดีต ไม่ใช่มุ่งเน้นในการใช้งบด้านเดียว แม้ว่าฤดูแล้งจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือควบคุมได้ แต่ธรรมชาติให้เวลาที่จะเตรียมรับมือ ป้องกัน แก้ไข ไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงหรือ ทำลายบางพื้นที่จนจะกลายเป็นทะเลทรายในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น