แพทย์ระบุโรคเนื้อเน่าหนังเน่า ภัยเงียบคร่าชีวิตเกษตรกรทุกปี สคร.ชี้ “ยาฆ่าหญ้า-ฆ่าแมลง” ปัจจัยหลักทำเกิดโรค

โรคเนื้อเน่าและหนังเน่า หรือแบคทีเรียกินเนื้อคน ที่กำลังระบาดไปทั่วในพื้นที่จังหวัดน่าน สถานการณ์แนวโน้มรุนแรง โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เข้ารักษา 26 ราย และอาการโคม่าต้องเฝ้าระวังอาการใกล้ชิดจำนวน 2 ราย

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายแพทย์ พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน หรือหมอบอย หลังตรวจอาการผู้ป่วยและสืบสวนสัณนิษฐานโรคแล้ว เปิดเผยว่า หลังทางแพทย์รักษาด้วยการผ่าตัด กรีดเนื้อ เปิดแผล ล้างเอาหนองและเนื้อที่เน่าตายออก หลายรายมีอาการดีขึ้น แต่ยังคงต้องดูอาการ และล้างแผลต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ป่วยที่อาการหนัก 2 ราย อาการยังทรงตัว ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์และพยาบาล

ทั้งนี้โรคเนื้อเน่า หรือแบคทีเรียกินเนื้อคน พบมีเกษตรกรทยอยเข้ารักษาตามโรงพยาบาลทั้ง 15 อำเภอของจังหวัดน่าน โดย 26 ราย นี้มีอาการหนัก หลังติดเชื้อมีแผลเน่าลุกลามที่เท้า และมีอาการแทรกซ้อนติดเชื้อ ถูกส่งต่อมารักษาที่ รพ.น่าน และมีแนวโน้มจะมีผู้ป่วยอาการหนัก ส่งต่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลน่านต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามพบสถิติเกษตรกรเสียชีวิตด้วยโรคเนื้อเน่าทุกปีต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2558 มีเกษตรกรเสียชีวิต 25 ราย , ปี 2559 จำนวน 16 ราย ,ปี 2560 จำนวน 15 ราย และปี 2561 จำนวน 9 ราย โดยในปี 2562 นี้ คาดการณ์จะรุนแรง เนื่องจากเพียงช่วงเข้าฤดูทำนา มีเกษตรกรเสียชีวิตแล้ว 4 ราย

ด้านสาธารณสุขจังหวัดน่าน เรียกประชุมด่วน จัดทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ผู้เสียชีวิตล่าสุดที่อำเภอทุ่งช้าง พร้อมให้ทุกโรงพยาบาลส่งเสริมตำบล อาสาสมัคร รพ.สต.ทุกพื้นที่ ออกให้ความรู้ เตือนเกษตรกร และประชาชนในการสังเกตโรค และการดูแลป้องกันโรคดังกล่าว

ขณะที่นายแพทย์ สุเมธ องค์วรรณดี ผอ.สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ (สคร.1 เชียงใหม่) ระบุว่า โรคเนื้อเน่าหนังเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นโรคติดเชื้ออย่างรุนแรงของผิวหนัง มักเกิดอาการหลังการมีบาดแผล สามารถลุกลามได้เร็ว หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้าและผ่าตัดเนื้อตายออกไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดยเมื่อปี 61 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ.น่าน รวม 65 ราย ส่วนปีนี้ (2562) พบผู้ป่วยประปรายตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กระทั่งเดือนมิถุนายนพบ 2 ราย เดือนกรกฎาคมพบแล้ว 26 ราย ซึ่งเป็นเดือนที่พบมากที่สุดทุกปี ผู้ป่วยส่วนมากมาจากทุกอำเภอของจังหวัดน่าน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ถูกส่งรักษาต่อ เนื่องจากแผลลุกลาม มีการติดเชื้อถึงเนื้อ ทั้งนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรงเนื้อเน่าหนังเน่า เกิดจาก

1. เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช เมื่อร่างกายสัมผัสสารเคมีด้วยวิธีการใดๆ จะคันแล้วเกาจนเป็นแผล และไม่ได้รับการรักษา เกิดการติดเชื้อจากการทำเกษตรกรรมหรือกิจกรรมอื่น ลุกลามถึงเนื้อ จนเกิดสภาพผิวหนังและเนื้อตาย
2. เมื่อเกิดแผลตามร่างกายจากการถูกกิ่งไม้-ใบหญ้าบาดหรือตำ รวมทั้งของมีคมต่างๆ แล้วไปสัมผัสกับสารเคมี ทำให้คัน-เกา จนแผลขยายขนาดและมีเชื้อเข้าสู่บาดแผลดังกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น