ก๊าซชีวภาพพลังงานทดแทนจากมูลช้าง ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนในฐานะที่เป็นแหล่งแสดงช้างที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของภาคเหนือ ทุกๆวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนเดินทางเข้ามาเที่ยวชมที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย กระทั่งผมเองหากมีเวลาว่างก็มักจะแวะเวียนเข้าไปเที่ยวที่ศูนย์ฯแห่งนี้อยู่เสมอชื่อเสียงของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยยังคงขจรขจาย ไปในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวิถีชีวิตของการทำไม้ในอดีต ซึ่งทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้ดัดแปลงมาเป็นกิจกรรมหนึ่ง ในการแสดงความสามารถของช้าง ซึ่งในอดีตช้างส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นช้างที่ถูกใช้ในการชักลากไม้ในป่าเขตภาคเหนือ กระทั่งหลังปี พ.ศ.2531 เมื่อรัฐบาลได้ประกาศให้มีการปิดป่าสัมปทานไม้ ช้างต่างๆเหล่านี้จึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ การนำช้างมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วยการนั่งช้างชมธรรมชาติ หรือแม้แต่การนำช้างมาฝึกการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม โดยเฉพาะที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยก็ได้กลายเป็นแห่งแสดงการชักลากไม้ในอดีตของช้างที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์
นอกจากการแสดงของช้างแล้ว ที่ศุนย์อนุรักษ์ช้างไทยยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับช้าง  เพื่อที่จะหาแนวทางในการป้องกันและอนุรักษ์ช้าง รวมทั้งจัดหาพื้นที่ให้ช้างอยู่และศึกษาสายพันธุ์ของช้างไทยอีกด้วย ในปี พ.ศ.2538 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ซึ่งรับผิดชอบดูแลศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาศูนย์ฯให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อปลูกฝังแนวคิด จิตสำนึกในการรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า โดยการนำช้างเข้ามาเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมากปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีช้างอยู่ในความดูแลถึง 50 เชือก และรับผิดชอบช้างสำคัญอีก 6 เชือกที่ยืนโรงอยู่ที่โรงช้างต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในแต่ละวันมีมูลของช้างที่ต้องเก็บกวาดมาถึงวันละ 1-2 พันกิโลกรัม กระทั่งปี พ.ศ.2542 คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฏร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและสถานที่ราชการอีก 14 แห่งจัดทำโครงการนำพลังงานทดแทนมาใช้เสริมกับกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ด้วยการนำมูลช้างที่ได้มาทำเป็นเชื้อเพลิง
ดังนั้นทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจึงได้นำระบบการผลิตก๊าซชีวภาพ จากมูลช้างมาใช้ในการผลิตเชื้อเพลิง นอกจากจะไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้พลังงานในรูปของก๊าซชีวภาพอีกด้วย ระบบการผลิตก๊าซชีวภาพประกอบด้วยบ่อเติมมูล บ่อหมักมูลแบบโดมคงที่ขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร 1 บ่อซึ่งใช้สำหรับมูลที่ได้จากช้างต้นจำนวน 200-300 กิโลกรัม และบ่อหมักแบบโดมคงที่ขนาด 100 ลูกบาศก์เมตรอีก 2 บ่อสำหรับใส่มูลช้างจำนวน 1,500-2,000 กิโลกรัม การผลิตก๊าซชีวภาพจะเริ่มต้นด้วยการนำมูลช้างและน้ำมาผสมจนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นปล่อยลงสู่บ่อหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลายโดยแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจน หลังจากที่หมักแล้วจะได้ก๊าซชีวภาพประมาณวันละ 80-100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งองค์ประกอบหลักเป็นก๊าซมีเทน สามารถนำปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มและเดินเครื่องยนต์สูบน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนมูลที่ถูกย่อยสลายแล้วจะไหลลงสู่บ่อมูลล้น เข้าลานตากมูลเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงดิน หรือนำไปทำเป็นแท่งเพาะชำหรือถ่านสำหรับหุงต้มต่อไป
จะเห็นได้ว่าศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ได้มีการพยายามนำเอาสิ่งปฏิกูลนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปของพลังงาน แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะอยู่ในช่วงระหว่างเริ่มต้นและเป็นโครงการนำร่อง หากมีการพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสมแล้วละก็ จะเกิดประโยชน์สูงสุดอันจะเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นได้ยึดถือปฏิบัติตาม.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น