“ลำไย” ผลไม้มหัศจรรย์เมืองลำพูน

ลำไย มีชื่อวิทยาศาสตร์: Dimocarpus longan มีชื่อเรียกพื้นบ้านว่า “บ่าลำไย” ชื่อภาษาอังกฤษว่าลองแกน (Longan) วงศ์ Sapindaceae เป็นพืชพื้นเมืองในพื้นที่ราบต่ำของลังกาอินเดียตอนใต้ บังกลาเทศ พม่าและจีนภาคใต้ เป็นพืชไม้ผลเขตร้อนและกึ่งร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อ สีขาวครีม ผลทรงกลมเป็นช่อ ผลดิบเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ผลสุกสีน้ำตาลล้วน เนื้อลำไยมีสีขาวหรือชมพูอ่อน เมล็ดสีดำเป็นมัน เนื้อล่อนเม็ดลำไยมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีนตอนใต้ ปลูกกันอย่างแพร่หลายในมณฑลกวางตุ้ง(Kwangtung) ฟุเกี่ยน (Fukein) กวางสี (Guangxi) และแพร่กระจายเข้าไปสู่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา (มลรัฐฮาวายและฟลอริดา) คิวบา หมู่เกาะอินดีสตะวันออก เกาะมาดากัสกา และไทย แหล่งปลูกลำไยในประเทศไทยที่สำคัญคือ จังหวัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา นอกจากนี้ยังมีในปลูกในภาคกลาง เช่นจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปัจจุบันลำไยได้แพร่กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัด เช่น จังหวัดเลย หนองคาย ภาคใต้ เช่น จังหวัด พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช และภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี และตราด
มีเรื่องเล่าว่าเพราะพระเจ้าแผ่นดินจีนส่งลำไยมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย จึงมีผู้นำเมล็ดลำไยไปเพาะแล้วแพร่พันธุ์สืบต่อมา สำหรับการแพร่พันธุ์ลำไยไปสู่มาภาคเหนือนั้นบางตำราเล่าว่า แต่เดิมพื้นที่ทางภาคเหนือคือลำพูนและเชียงใหม่มีการปลูกลำไยอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นลำไยพันธุ์พื้นเมือง ลำไยพันธุ์นี้มีผลเล็กเม็ดใหญ่เนื้อบางไม่มีความอร่อยเลย ส่วนลำไยพันธุ์ดีที่เรียกว่า พันธุ์กะโหลก นั้นได้รับการแพร่พันธุ์ทางภาคเหนือเป็นครั้งแรก โดยเจ้าน้อยต้น ณ เชียงใหม่ น้องชายเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นผู้นำพันธุ์ไปจากกรุงเทพฯ เมื่อคราวมาเฝ้าในหลวงสมัยเมื่อ 100 กว่าปีก่อน พันธุ์ลำไยที่เจ้าน้อยต้น ณ เชียงใหม่ นำไปสู่ภาคเหนือนั้นบางท่านเล่าว่าเป็นเม็ดลำไยที่พระเจ้าแผ่นดินจีนส่งมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย แต่บางท่านก็บอกว่าที่แท้พันธุ์ที่เจ้าน้อยต้นนำไปนั้นนำไปจากตรอกจันทร์
สำหรับความเป็นมาของลำไยที่ไปปลูกในจังหวัดลำพูนนั้น มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นทางลำพูนและเชียงใหม่ยังมีเจ้าผู้ครองนครอยู่ เวลาที่เจ้าผู้ครองนครไปเฝ้าในหลวงก็ต้องเดินทางด้วยเรือไปตามแม่น้ำปิง คราวหนึ่งเมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายาเสด็จฯกลับกรุงเทพ หลังจากเสด็จฯไปเยือนเชียงใหม่และประทับอยู่ ณ ที่นั้นชั่วระยะหนึ่ง มีลูกเรือ ชื่อ นายข่วง ได้ตามเสด็จฯมาด้วย เมื่อได้เฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เจ้าดารารัศมีพระราชชายาได้รับพระราชทานพวงลำไยผลใหญ่พวงหนึ่ง ซึ่งนัยว่าเป็นของบรรณาการมาถวายจากประเทศจีน นายข่วงลูกเรือของพระราชชายาฯ จึงพลอยได้รับประทานลำไยนั้นด้วย และก็ปรากฏว่าติดใจในรสชาติของลำไยนั้นเป็นอย่างมาก ถึงกับเก็บเม็ดลำไยนั้นนำติดขึ้นยังเมืองเหนือด้วย เมื่อถึงบ้านนายข่วงก็นำเม็ดลำไยพันธุ์ดีนั้นปลูกลงแผ่นดินเมืองเหนือครั้งแรกที่บ้านน้ำโจ้ ตำบลดอนแก้ว ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ต่อมาลำไยต้นนั้นก็เจริญเติบโตแล้วออกผลแพร่พันธุ์กันสืบมา อันว่าบ้านน้ำโจ้นั้นถึงแม้จะเป็นเขตจังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่มีอาณาเขตติดกับบ้านหนองช้างคืน จังหวัดลำพูน ต่อมาขุนเข้ม ขามขัณฑ์ กำนันจึงได้นำเม็ดลำไยจากต้นแรกที่นายข่วงนำมาปลูกนั้น มาปลูกไว้ที่บ้างหนองช้างคืน ที่ป่าขามเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นลำไยต้นแรกที่เข้ามาปลูกในเขตจังหวัดลำพูน ลำไยต้นนี้ในปัจจุบันยังอยู่ที่บ้านหนองช้างคืน เรียกกันว่า “ลำไยต้นหมื่น” เพราะลำไยต้นนี้ต้นเดียวเคยทำรายได้ให้แก่เจ้าของถึงหมื่นกว่าบาทเพียงฤดูเดียวเท่านั้น จากนั้นมาพันธุ์ลำไยชั้นดีคือ อีดอ ก็ได้แพร่พันธุ์ไปทั่วจังหวัดลำพูน จนลำพูนกลายเป็น “เมืองแห่งลำไย” เนื่องจาก จังหวัดลำพูนมีสภาพภูมิประเทศที่ดีในลุ่มแม่น้ำใหญ่หลายสาย จนเกิดลำไยต้นหมื่นที่บ้านหนองช้างคืนดังกล่าว พัฒนาการของลำไยในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะที่จังหวัดลำพูน มีลำไยมากมายหลายพันธุ์และมีการปลูกมากถึง 270,573 ไร่
ปัจจุบันลำไยมีหลายสายพันธุ์ เช่น ลำไยกะโหลก เป็นพันธุ์ลำไยที่ให้ผลขนาดใหญ่มีเนื้อหนา รสหวานมีหลายสายพันธุ์คือ พันธุ์สีชมพู ผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก เนื้อมีสีชมพูเรื่อ ๆ รสดีมากที่สุด พันธุ์ตลับนาค ผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบแห้ง เปลือกบาง พันธุ์เบี้ยวเขียว หรืออีเขียว ผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ เนื้อล่อน
พันธุ์อีดอ ผลขนาดปานกลาง เมล็ดเล็ก รสหวาน แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ อีดอยอดแดง ใบอ่อนมีสีแดงกับอีดอยอดเขียว ใบอ่อนมีสีเขียว
พันธุ์อีแดง สีเปลือกของผลค่อนข้างแดง เป็นพันธุ์กลาง กิ่งเปราะหักง่าย ผลกลมใหญ ่เมล็ดใหญ่ รสหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คืออีแดงเปลือกหนา มีใบป้อมใหญ่ผลใหญ่ กับอีแดงเปลือกบาง ใบยาวผลเล็กกว่าอีแดงเปลือกหนา
พันธุ์อีดำ ผลใหญ่ ใบดำ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ อีแห้วยอดแดง เมล็ดปานกลาง อีแห้วยอดขาว ผลกลมใหญ่ หัวเบี้ยว เนื้อกรอบ ไม่หวานลำไยกระดูก เป็นพันธุ์พื้นเมือง ทรงพุ่มกว้างใบหนาทึบ ผลเล็กมีน้ำมาก เนื้อน้อยไม่หวาน มีน้ำตาลประมาณ 13.75 % ขึ้นได้ทั่วไปปลูกง่าย เหลือให้เห็นน้อย เพราะไม่นิยมปลูก ไม่มีราคาลำไยธรรมดา ผลปานกลาง เนื้อหนากว่าลำไยพันธุ์กระดูก เนื้อกรอบบางมีน้ำมาก ให้ผลดก
ลำไยสายน้ำผึ้ง ลักษณะคล้ายลำไยธรรมดา แต่เนื้อมีสีเหลืองอ่อน เนื้อมีรสดี หอมกรอบ เมล็ดเล็ก
ลำไยเถาหรือลำไยเครือ มีลำต้นเลื้อยคล้ายเถาวัลย์ นิยมปลูกไว้ประดับมากกว่าปลูกไว้รับประทาน ชอบขึ้นตามป่าแถบภูเขาบรรทัด ภูเขาดงเล็ก ลำต้นไม่มีแก่นจึงพันเข้ากับรั้วหรือหลัก
เมื่อถึงฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวลำไย จังหวัดลำพูนจะนำผลผลิตออกสู่สายตาเพื่อเผยแพร่ผลิตผลลำไย โดยการจัดงานเทศกาลลำไยสืบต่อกันมาทุกปี เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงลำไยของจังหวัดลำพูน ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมด้านการจำหน่ายผลผลิตการเกษตรแก่เกษตรกรชาวสวนได้อีกทางหนึ่งด้วย
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น