แม่โจ้โพลล์ ชี้ เกษตรกรไทย ร้อยละ 74 เป็นหนี้ “ราคาผลผลิตตกต่ำ” เป็นสาเหตุก่อหนี้มากที่สุด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 773 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 15 มิถุนายน 2562 ในหัวข้อ “ภาวะหนี้สินของเกษตรกรไทย ปี 2562” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามเกษตรกรไทยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ภาระหนี้สิน สาเหตุของภาระหนี้สิน และแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเอง สรุปผลได้ดังนี้
จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2562 เกษตรกรร้อยละ 45.07 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 29.20 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 25.73 ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
จากการสอบถาม พบว่า เกษตรกรถึงร้อยละ 74.09 มีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 49.28 มีหนี้สินไม่เกิน 100,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 24.74 มีหนี้สินมากกว่า 300,000 บาท ร้อยละ 14.85 มีหนี้สินระหว่าง 100,001 – 200,000 บาท และร้อยละ 11.13 มีหนี้สินระหว่าง 200,001 – 300,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.26 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 24.10 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลา 6 – 10 ปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 9.64 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลามากกว่า 10 ปี
ส่วนภาระหนี้สินในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรร้อยละ 38.77 มีภาระหนี้สินไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 35.11 มีภาระหนี้สินมากขึ้น มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 26.12 ที่มีภาระหนี้สินลดลง
ในส่วนของแหล่งเงินกู้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 62.61 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รองลงมา ร้อยละ 42.43 กู้ยืมเงินมาจากกองทุนหมู่บ้าน ร้อยละ 12.81 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 12.68 กู้ยืมเงินมาจากสหกรณ์ ร้อยละ 8.67 กู้ยืมเงินมาจากญาติพี่น้อง และร้อยละ 5.69 กู้ยืมเงินมาจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ตามลำดับ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณหนี้สิน พบว่า เกษตรกรมีความเห็นว่าการที่ราคาผลผลิตตกต่ำเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาระหนี้สิน ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเอง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.54 ได้ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น พืชที่ใช้น้ำน้อย รองลงมา ร้อยละ 45.28 ได้ทำการวางแผนควบคุมการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ เช่น การจัดทำบัญชีครัวเรือน ร้อยละ 42.04 จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐบาล เช่น โครงการยกระดับรายได้ของเกษตรกร โครงการพักชำระหนี้ ร้อยละ 35.83 ได้รวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุน หรือสร้างอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ และร้อยละ 33.89 ได้ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยง โดยเน้นพืช/สัตว์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ตามลำดับจะเห็นได้ว่าภาระหนี้สินของเกษตรกรเป็นปัญหาที่เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว อีกทั้งสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ควรพิจารณานโยบายการให้สินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่อในรูปของสินเชื่อกลุ่มเกษตรกร แทนการให้สินเชื่อรายบุคคล เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มอีกทางหนึ่ง และจะต้องแก้ไขที่ตัวเกษตรกรเองด้วย เช่น การวางแผนควบคุมรายจ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ การปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกและสัตว์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ และการรวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุนหรือสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 053-875265

ร่วมแสดงความคิดเห็น