3 สิ่งควรรู้ ก่อนปลูกกัญชา

“ประเทศไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 แก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. 1972 และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ ยินยอมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ได้”พูดง่าย ๆ คือ ไทยเรามีข้อตกลงกับต่างประเทศ เรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชา โดยรัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ การป้องกันการรั่วไหลไปยังตลาดมืด ต้องมีการข้อกำหนดที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ผลิต ปลูก หรือใช้กัญชาทางการแพทย์ที่จะต้องมีระบบใบอนุญาต (Licensing System)
การกำกับดูแลให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ จะมีคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องรายงานให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย
ดังนั้น ใครก็ตามที่จะปลูกกัญชาได้ จะต้องรู้ถึง 3 สิ่งนี้ 1. จะปลูก “กัญชา” ได้ต้องเป็นผู้มีสิทธิ
• หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือให้บริการทางเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
• สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการเรียนการสอนและวิจัยทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
• เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร และดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
• ผู้ขออนุญาตอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2.จะปลูก “กัญชา” ได้ต้องได้รับอนุญาต
• ผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายตามข้อ 1 จะต้องยื่นขออนุญาต โดยในกรุงเทพฯ ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดโทษ เสนอเลขาธิการ อย. เป็นผู้อนุญาต ส่วนในต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ ท้องที่ที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งหรือมอบหมาย เสนอผ่านความเห็นจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เสนอเลขาธิการ อย. เป็นผู้อนุญาต
3.จะได้รับอนุญาตต้องดำเนินการ ดังนี้
• ยื่นเอกสารขออนุญาต โดยทำเป็นโครงการ ซึ่งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ หรือเพื่อการศึกษาวิจัย เช่น ต้องระบุ สถานที่เพาะปลูก ปริมาณการปลูกต้องสอดคล้องกับแผนการผลิต แผนการจำหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์ รวมถึงต้องระบุให้เห็นถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา รวมทั้งสถานที่ที่ปลูกต้องมีภาพถ่ายและพิกัดสถานที่ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่ประสงค์จะใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ขณะนี้มีสถานพยาบาลทั่วประเทศที่มียากัญชาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ใช้ในทางการแพทย์อย่างเพียงพอ มีการกระจายยาทั่วถึง และเป็นระบบ รวมทั้งมีแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรม 400 คน และแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรม 2,900 คน ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน ป.ป.ส.1386 สายด่วน อย.1556 กด 3
ที่ : ไทยคู่ฟ้า

ร่วมแสดงความคิดเห็น