เปิดใช้กัญชารักษาโรค ผู้ป่วยเตรียมเฮ โรงพยาบาลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำร่องพร้อมจ่ายยาแผนไทยมีกัญชาเป็นส่วนผสม

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ได้เป็นประธาน ในการการมอบนโยบายกัญชา และการใช้กัญชาในแพทย์แผนไทย ณ ห้องประชุมสว. โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีแพทย์ พยาบาล ข้าราชการ อสม.และประชาชน เข้ารับฟังบรรยายวิชาการ พร้อมกับแถลงข่าว เกี่ยวกับการใช้กัญชารักษาโรค
นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กัญชา ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่ในระยะ 5 ปี นับจากจาก พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ อนุญาตเฉพาะกัญชานำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนการนำกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีตำรับยาแผนไทย ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมผ่านการประกาศใช้ จำนวน 16 ตำรับ กรมแพทย์แผนไทยจะดำเนินการผลิต จำนวน 5 ตำรับ ประกอบด้วย
  • ยาทำลายพระสุเมรุ บรรเทาอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรง และอาการชาในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ยาทัพยาธิคุณ แก้จุกเสียดท้องแข็งเป็นเถาดาน อาการอัมพฤกษ์ เสียงแหบแห้ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับ
  • ยาศุขไสยาศน์ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร
  • ยาไฟอาวุธ แก้ลมจุกเสียด ปวดมวนท้อง
  • ยาแก้สันฑฆาตกล่อนแห้ง บรรเทาอาการท้องผูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขับลม
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ในระหว่างการผลิต คาดว่าจะส่งให้โรงพยาบาลนำร่องใช้ภายในเดือนสิงหาคม นี้ โดย จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะเริ่มจ่ายยาแผนไทย มีกัญชาเป็นส่วนผสมได้ 2 โรงพยาบาลแรก ประกอบด้วย รพ.ศรีสังวาลย์ และรพ.แม่สะเรียงสำหรับด้านการแพทย์แผนไทย นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบาย มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการแพทย์แผนไทยให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวก การนำภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยมาใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ในการดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน ทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงการสร้างสร้างรายได้การบริการแพทย์ไทย นวด สปา ผลิตภัณฑ์ยาและสมุนไพรไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2664) ให้บริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ รวมถึงภูมิปัญญาแพทย์ แผนไทยแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร ได้รับความคุ้มครอง ส่งเสริม สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และประเทศชาติ
ในส่วนแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ยังคงมีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านของหลากหลายชนเผ่าซึ่งยังใช้ตำรายาพื้นบ้านและสมุนไพรในป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด ประชาชนเมื่อเจ็บป่วยยังดูแลสุขภาพและรักษาตนเองด้วยการแพทย์พื้นบ้าน หรือการแพทย์แผนปัจจุบันแบบผสมผสาน และโรงพยาบาลของ จ.แม่ฮ่องสอนทุกแห่ง มีความพร้อมในการให้ บริการด้านแพทย์แผนไทยในโรคที่ไม่ซับซ้อน เช่น ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น (หวัดระยะแรก ไอ เจ็บคอ ภูมิแพ้ ) ระบบทางเดินอาหาร ( ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ท้องเสีย ท้องผูก ริดสีดวงทวาร) ระบบไหลเวียนเลือดและสตรี (ปวดประจำเดือน ลมผิดเดือน วัยทอง ประจำเดือนมาไม่ปกติ) หญิงหลังคลอด (เวียนศีรษะ หน้ามืด) ระบบผิวหนัง (กลาก เกลื้อน ผื่นคัน แผลน้ำร้อนลวก แผลพุพอง เริม งูสวัด แมลง สัตว์กัดต่อย) ระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อ ข้อต่อ (คอตกหมอน อัมพฤกษ์ อัมพาต นิ้วล็อก ไมเกรน ไหล่ติด ข้อเข่าเสื่อม ข้อเท้าแพลง ปวดเอวร้าวลงขา อาการชามือชาเท้า) โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ได้เปิดคลินิกบริการแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับ แพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้ประชาชน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเพิ่มทางเลือกและเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการมารับบริการ ลดความแออัด โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-วันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 08.30 น.-16.30 น. ครอบคลุมกลุ่มโรคหรืออาการที่กล่าวข้างต้น ส่วนวันศุกร์ให้บริการที่กลุ่มงานแพทย์แผนไทยฯ ห้องเบอร์ 28 ชั้น1 อาคาร 50 ปี (ตึก 6 ชั้น)

ร่วมแสดงความคิดเห็น