“เลื่อน พงษ์โสภณ” คนไทยคนแรกที่ขับแครื่องบินข้ามทวีป

นาวาเอกเลื่อน พงษ์โสภณ ท่านเป็นนักบินพลเรือนคนแรกที่ขับเครื่องบิน “นางสาวสยาม” หรือ Travel air 2000 จากประเทศสหรัฐอเมริกาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกลับมาถึงประเทศไทย ก่อนที่จะนำเครื่องลำดังกล่าวบินจากประเทศไทยไปเมืองจีนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2475

ในอดีตประวัติศาสตร์การบินของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ นายเฮนรี่ ฟาแมน ชาวเบลเยี่ยมได้นำเครื่องบินปีก 2 ชั้นเข้ามาบินแสดงที่สนามม้าสระประทุมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2454 และหลังจากนั้นอีก 8 ปีก็เริ่มมีการนำเครื่องบินเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเวลานั้นมีคนไทยได้รวบรวมเงินซื้อเครื่องบินให้กับทางราชการไว้ใช้ในกิจการจำนวนถึง 31 เครื่อง ซึ่งนับเป็นความร่วมมือกันระหว่างราชการกับพลเรือนซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาทางการบินโดยให้พลเรือนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ ก่อนที่จะได้รับพระราชทานยศ (พ.ศ.2500) ท่านก็เป็นบุคคลพลเรือนที่มีความรักและสนใจในการบินมาก ท่านได้พยายามพัฒนากิจการบินของไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2440 เสียชีวิตเมื่อ 29 กรกฏาคม 2519 อายุ 79 ปี เป็นบุตรขุนเชี่ยวหัสดิน (เถา) และนางแฉ่ง สมรสกับคุณหญิงสุเนตร บุญญสิทธิ์ มีบุตรธิดารวม 3 คน

การศึกษา ชั้นประถมที่โรงเรียนอรพินท์ ชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดรังษี ลาออกจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเดินทางรบที่ประเทศฝรั่งเศส ได้ยศสิบโทในขณะนั้น จากนั้นได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้ไปศึกษาวิชาการบินที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกาชีวิตและการทำงาน เป็นผู้คิดและประดิษฐ์รถจักรยานสามล้อขึ้นเป็นคนแรกในประเทศไทย คนเป็นสร้างรถมอเตอร์ไซด์ไต่ถัง รถไถนา รถโกคาร์ทคันแรก นอกจากนั้นท่านยังประดิษฐ์เครื่องมือผลิตยางรถจักรยานและยางรถยนต์ได้สำเร็จ ในช่วงที่เรียนอยู่อเมริกาท่านได้แสดงผาดโผนบนเครื่องบินที่กำลังบินอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันรถและเรือยนต์มากกว่า 200 ครั้ง ท่านยังได้นำครื่องบินแบบ Travel air 2000 บินไปประเทศจีน และเป็นผู้เดียวที่ถ่ายทำภาพยนต์ 16 มม.สำเร็จเป็นคนแรก

หลังจากนั้นท่านได้ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 6 สมัยประมาณ 25 ปี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2 สมัย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การน้ำตาลไทย ได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่โลก และทาง Aeronautical Technology of Saint Louis University ได้รับเหรียญดุษฏีมาลาทางด้านศิลปวิทยาขณะที่เป็นพลเรือนได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไปศึกษาวิชาการบินที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เป็นเวลา 3 ปีจนกระทั่งจบหลักสูตรสูงสุดของโรงเรียน
ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ท่านได้ไปรับจ้างบินแสดงผาดโผนตามเมืองต่าง ๆ ในอเมริกาหลายแห่ง จนสามารถเก็บเงินซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ 1 ลำเป็นเครื่องบินแบบ เทลย์เวล แอร์ 2000 ปีก 2 ชั้นในราคา 6,000 บาท และได้ตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า Miss Siam หรือ นางสาวสยาม ต่อมากลายเป็นเครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย เครื่องบิน “นางสาวสยาม” ลำเดิมนั้นเป็นเครื่องบิน เทลย์เวล แอร์ 2000 ปีก 2 ชั้น 2 ที่นั่ง เครื่องยนต์แบบเคอร์ติส OX – 5 ระบายความร้อนด้วยน้ำ เครื่อง 8 สูบ กำลัง 90 แรงม้า โครงสร้างลำตัวทำด้วยเหล็กเชื่อมต่อแบบสะพานตรึงด้วยลวดสปริง ตัวเครื่องหุ้มด้วยผ้าใยสังเคราะห์ ความเร็วสูงสุด 160 กม.ต่อชั่วโมง ความเร็วในการเดินทาง 140 กม.ต่อชั่วโมง เครื่องบินแบบ เทลย์เวล แอร์ 2000 นี้เป็นเครื่องบินที่ทางการอเมริกันอนุญาติให้พลเรือนสามารถเป็นเจ้าของได้ นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องที่พลเรือนนิยมใช้อย่างแพร่หลายในขณะนั้นด้วย
ปัจจุบันเครื่องบินนางสาวสยามจะได้ยุติการบินลงแล้วตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2475 ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 87 ปี

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น