นิทรรศการ “พลาสติกพลิกโลก”ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562”

ปรับผู้บริโภค–เปลี่ยนผู้ผลิต-จัดการขยะอย่างเป็นระบบ พลิกโฉมพลาสติกให้กลับเป็นมิตร ในนิทรรศการ “พลาสติกพลิกโลก” ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562”วิกฤตขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหารุนแรง ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไข ร่วมมือกัน เพราะขยะพลาสติก ได้สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะขยะทะเล สำหรับประเทศไทย ขยะพลาสติก ติดอันดับ 5 ของโลก หรือคิดเป็น 2 ล้านตัน ของปริมาณขยะทั้งหมด ที่น่ากังวลคือ ขยะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ ได้ปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงทะเลจำนวนมาก กลายเป็นแพขยะในทะเลขนาดใหญ่ 
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์และระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจ การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน การกินขยะพลาสติกของนกและปลาในทะเล รวมทั้งการสะสมของไมโครพลาสติก ในดินหรือแหล่งน้ำ และผลพวงขยะพลาสติกที่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการขยะไม่ถูกวิธี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “นอกจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการจัดการขยะพลาสติกแล้ว เรายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น ระยะเวลาในการย่อยสลายพลาสติกแต่ละประเภท พฤติกรรมการใช้พลาสติกของผู้บริโภค ความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้นำมาใช้ใหม่ เป็นต้น ดังนั้น หนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะยาว คือการลดขยะพลาสติกโดยนำมารีไซเคิล และใช้ซ้ำเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เยาวชนและคนไทยตระหนักถึงวิกฤตขยะพลาสติก ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ มนุษย์และสัตว์ และเรียนรู้การจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการ “พลาสติกพลิกโลก” (Plastic Change the World) ภายในงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ขึ้น โดยนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับขยะพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมค้นหาคำตอบว่า ทำไมพลาสติกสารพัดประโยชน์ จึงกลายเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมและกำลังกลับมาทำร้ายมนุษย์ ใครคือผู้ร้ายตัวจริง และเราจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองได้อย่างไร”ภายในนิทรรศการชุดนี้ ประกอบด้วย 3 โซน
โซนที่ 1 พลาสติกพลิกโลก เพื่อให้มนุษย์เรียนรู้การนำวัสดุในธรรมชาติมาใช้ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความต้องการของมนุษย์มีแต่จะเพิ่มขึ้น จนทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการ วัสดุราคาถูก สารพัดประโยชน์อย่างพลาสติก จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า พลาสติกก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้น รู้หรือไม่ตอนนี้ บนโลกของเรามีพลาสติกกี่ชนิด แล้วยังมีสิ่งใดบ้างที่ไม่ได้ผลิตด้วยพลาสติก  Hilight: กิจกรรมทดสอบคุณสมบัติวัสดุต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกจึงเป็นวัสดุสารพัดประโยชน์ ร่วมกันตามหาสิ่งของในชีวิตประจำวัน ที่พบได้ที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล มีอะไรบ้างที่ไม่มีส่วนผสมของพลาสติก และมาคำนวณว่าในแต่ละวัน เราใช้และทิ้งพลาสติกกี่ชิ้น
โซนที่ 2 พลาสติกพลิกผัน เพราะผลิตง่าย จึงผลิตมาก ใช้มาก ทิ้งมาก แต่ย่อยสลายยาก พลาสติกจึงพลิกผันจากวัสดุสารพัดประโยชน์กลายเป็นขยะ กระจายไปทั่วทุกที่บนโลก ไม่ว่าจะแม่น้ำ ยอดเขา มหาสมุทรลึก ล้วนมีพลาสติกทั้งขนาดใหญ่ ที่มองเห็นได้ด้วยตา และขนาดเล็กยิ่งกว่าปลายเข็ม ทำไมพลาสติกจึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่กำลังจะกลับมาหาเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพลาสติกอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในลำไส้ของเรา  Hilight: กิจกรรมส่องกล้องมองพลาสติก เพื่อดูพลาสติกจิ๋ว ส่วนจัดแสดงภาพถ่ายผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเต่าทะเลสตัฟฟ์ และแมงกระพรุนซึ่งเป็นอาหารของเต่า เปรียบเทียบกับพลาสติกซึ่งลอยในน้ำ ที่แม้มนุษย์เราจะแยกออก แต่เต่าไม่สามารถแยกได้
โซน 3 พลาสติกพลิกโฉม ปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เราทุกคนทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ร่วมเรียนรู้เพื่อค้นพบวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ในแบบของตัวเองผ่านเรื่องราวของคนจากประเทศต่างๆ และคนจากหลากหลายอาชีพ ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ ทั้งพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจรีไซเคิลและเทคโนโลยีอัพไซเคิล ที่เปลี่ยนพลาสติกเป็นวัตถุดิบกลับสู่กระบวนการผลิต งานวิจัยที่เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่สามารถย่อยพลาสติกได้ Hilight: พบกับผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและงานวิจัยใหม่ๆ มากมายที่ได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนนำมาจัดแสดง เพื่อให้เห็นความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่โลกกำลังเผชิญ พบกับนักนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทำขวดน้ำกินได้ ให้ผู้เข้าชมได้ทำเอง ชิมเองอีกด้วย งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 สิงหาคมนี้ ณ อาคาร 6-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงาน ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

ร่วมแสดงความคิดเห็น