“โล้ชิงช้า” ของคนอาข่าดอยแม่สลอง

ประเพณีโล้ชิงช้า หรืออ่าข่าเรียกว่า “แย้ขู่อ่าเผ่ว” ซึ่งจะมีการจัดขึ้นทุกๆ ปี ประมาณปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายนซึ่งจะตรงกับ ช่วงที่ผลผลิต กำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อ่าข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอสำหรับการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอ่าข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอ่าข่า ถือเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของอ่าข่าอีกมากมาย ความเป็นมาของประเพณีโล้ชิงช้า เล่ากันว่าประเพณีโล้ชิงช้ามีต้นกำเนิดในดินแดนที่มีชื่อว่า “จาแดล้อง” คือพื้นที่ประเทศจีนในปัจจุบัน โดยดินแดนแห่งนี้มีผู้นำอ่าข่า ที่ชื่อ “ข๊ะบา อ่าเผ่ว หม่อโล๊ะโล๊ะซื่อ” และ “ค๊อบาอ่าเผ่วเอวค๊อ ค๊อคอง” เป็นผู้นำที่ชาวอ่าข่าให้การเคารพนับถือ โดยกล่าวว่า ดินแดนจาแด จะทำการจัดประเพณีโล้ชิงช้า 33 วันเมื่อเป็นเช่นนี้สมาชิกคนในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งคนจน และคนรวย ทุกคนต้องเตรียมเสบียงอาหารไว้เยอะๆ เพื่อเอาไว้ฉลองกันในวันประเพณี นี่คือการบอกเล่าถึงที่มาของ ประเพณีโล้ชิงช้า ประเพณีโล้ชิงช้าถือเป็นประเพณีทีให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฉะนั้นผู้หญิงอ่าข่ามีการแต่งกาย ด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามที่ได้เตรียมไว้ตลอดทั้งปีมาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ สำหรับหญิงสาวอ่าข่าจะแต่งกายเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลงทั้งลักษณะเดี่ยว และคู่ประเพณีโล้ชิงช้า จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองพืชพันธุ์ที่จะได้เก็บเกี่ยวไว้บริโภค เนื่องจากพืชไร่ พืชสวนต่างๆ ที่ปลูกลงไป พร้อมที่จะได้ผลผลิต โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ” หมายถึง ประเพณีโล้ชิงช้า มีอาหาร หลากหลาย และสมบูรณ์มากมาย
หากประเพณีนี้ไม่มี ประเพณีอื่น หรือพิธีอื่นก็จะไม่มี และหลังจากที่จัดงานประเพณีโล้ชิงช้าเสร็จแล้ว ชุมชนอ่าข่าก็จะไม่มีการตัดไม้ดิบเข้ามาในชุมชนอีก ไม้ดิบในที่นี้คือไม้ยืนต้น หรือไม้ทุกชนิดที่ยังไม่ได้ถูกตัด ยกเว้นกรณีที่มีคนตายแล้วเท่านั้น จึงถือว่าเป็นวันเข้าพรรษาของชาวอ่าข่าอีกเช่นกัน ในการจัดประเพณีโล้ชิงช้าแต่ละปีของอ่าข่า จะต้องมีฝนตกลงมา ถ้าปีไหนเกิดฝนไม่ตก อ่าข่าถือว่าไม่ดี ผลผลิตที่ออกมาจะไม่งอกงาม
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น