สาธารณสุขเตือน! “ฉี่กินไม่ได้” และไม่มีประโยชน์ แถมให้โทษ

จากกระแสข่าวที่ตกเป็นประเด็นโลกออนไลน์เวลานี้ กรณีหนุ่มคนหนึ่ง โพสต์ไปยังกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่มีชื่อกลุ่มว่า มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ ยาดีที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ โดยระบุในโพสต์ว่า

“ผมเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ที่จ.ราชบุรี เป็นคนชอบ ปฏิบัติธรรม การนั่งสมาธิ เผอิญได้มาเจอรุ่นพี่จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมในงานเลี้ยง ได้คุยธรรมะกัน และด้วยความ ที่กินเจมาก่อนหน้านี้ 6 เดือน พี่จิตอาสาแนะนำให้ลองดื่มน้ำปัสสาวะดู เพื่อแก้อาการปวดเมื่อยตัว
เมื่อกลับไป บ้านเลยตัดสินใจทดลองดื่มน้ำปัสสาวะ ตอนแรกที่ดื่มมีรสเค็มมาก เพราะกินอาหารเจ รสจัด หลังจากนั้นเลยตัดสินใจไปค่ายสุขภาพที่ จ.มุกดาหาร และได้มีโอกาสเข้ากลุ่มโรค ต่างๆ พี่จิตอาสาในกลุ่มได้แนะนำให้ใช้น้ำปัสสาวะล้างจมูก แก้ไซนัส หยอดหูตาและอาบน้ำ
ทุกวันนี้จะใช้หยอดตา หยอดหูในตอนเช้า ดื่มและอาบน้ำ โดยการใช้น้ำปัสสาวะกับดวงตา จะปัสสาวะใส่ขวด ทิ้งค้างไว้หนึ่งคืนแล้วตอนเช้า นำเอามากรอกตาไปมา รู้สึกเย็นสบาย ตาโล่งดี ผลที่ได้คือ ตาจะมองชัดมากเลย
แต่สำหรับคนใหม่ อาจจะใช้น้ำปัสสาวะที่สดใหม่ ไม่ต้องหมักค้างคืน ใช้แบบสดๆ หยอดตาได้เลย โดยกรอกตาไปมาเพื่อบริหาร กล้ามเนื้อตา มีอยู่ครั้งหนึ่ง โดนหมากัดที่ขาขวาเขี้ยวจม เลือดออกมากก็ตัดสินใจไม่ไปหาหมอ แต่ใช้น้ำปัสสาวะ ที่หมักไว้ ล้างแผลสด แผลก็หายเร็วและไม่เป็นแผลเป็นแต่อย่างใด ปัจจุบันใช้น้ำปัสสาวะเป็นประจำทุกวันและ ได้หมักเก็บน้ำปัสสาวะเป็นขวดๆไว้ที่บ้านจำนวนมากเพื่อ เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน”

ซึ่งจากการโพสต์นี้ได้มีผู้คนให้ความสนใจ และแห่กันกดไลค์ กดแชร์ รวมถึงหาคำตอบถึงข้อเท็จจริงกันเป็นจำนวนมาก เพราะหลังจากกระแสนี้ก็ได้มีหลายบุคคลที่อ้างตัวเป็นผู้ประกอบอาชีพครู แพทย์ หรือพยาบาล ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ในทำนองว่า ตนนั้นก็ได้เอาปัสสาวะมาใช้รักษาโรคเช่นเดียวกัน
ล่าสุด นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงในกรณีนี้ว่า หลังจากที่มีกลุ่มบุคคลเปิดเผยตนเองว่า “ดื่มน้ำปัสสาวะเป็นประจำ” แล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น จึงเกิดกระแสตื่นตัวทางโลกออนไลน์ขึ้นว่าการดื่มน้ำปัสสาวะ เสมือนยาอายุวัฒนะ บำบัดโรคร้ายได้นั้น แต่สำหรับความจริงแล้วการใช้น้ำปัสสาวะบำบัดไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับ
ซึ่งหากนำมาใช้โดยไม่ระวังอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย แม้ว่าปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงมีทางเลือกในการรักษาโรคหลากหลายช่องทาง ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือก
แต่อย่างไรก็ตามจึงควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และประสิทธิภาพการรักษาเป็นสำคัญ ซึ่งทางสาธารณสุขมีเป้าหมายมุ่งเน้นทางด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคทั่วไป และโรคเฉพาะทางแก่ประชาชนอยู่ทั่วประเทศ จึงอยากให้ประชาชนเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วย หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นวิธีการรักษาโรคที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากกว่าทางเลือกอื่น
นายสาธิต ยังกล่าวอีกว่า สำหรับวิธีรักษาโรคที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด ไขมันสูง กินผักและผลไม้ให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี ในกรณีหากพบความผิดปกติของร่างกาย ต้องรีบพบแพทย์ใกล้บ้านและรักษาและปฏิบัติตัวภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ส่วนทางด้านอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ก็ได้มีการออกมาพูดในเรื่องดังกล่าวอีกว่า เนื่องจากน้ำปัสสาวะเป็นของเสีย หรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายที่ไตขับออกมา แม้ว่าจะมีสารต่าง ๆ อยู่มาก ทั้งยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม และโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงสารอื่น ๆ แต่สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความต้องการของร่างกาย หากสะสมไว้มากเกินไปกลับจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
ร่างกายจึงขับทิ้งตามระบบ ดังนั้นหากดื่มกลับเข้าไปซ้ำอีก จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย นอกจากนี้ น้ำปัสสาวะที่ขับออกมายังอาจปนเปื้อนอุจจาระ ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ อย่างเชื้อบิด อาจติดต่อไปยังผู้อื่นที่นำน้ำปัสสาวะนั้นมาดื่ม นอกจากนี้ ไตซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียออกจากร่างกาย ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องขับของเสียออกซ้ำและอาจเกิดการคั่งค้างของสารต่าง ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

รู้อย่างนี้แล้ว ก็คงสามารถสรุปได้แล้วว่า การกินฉี่ หรือปัสสาวะ นั้นไม่ได้มีประโยชน์ แถวจะให้โทษมาเพิ่มอีกต่างหาก จากกรณีนี้ ให้เป็นกรณีศึกษาว่าความเชื่อจากโลกออนไลน์ที่แชร์ต่อกันมากมายนั้น ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ก่อนที่จะแชร์ต่อ หรือบอกต่อ อะไรกับใครเราควรเช็คให้รอบคอบทุกครั้งก่อนว่า เรื่องนั้นจริงเท็จแค่ไหน เพื่อไม่เป็นการส่งต่อความรู้แบบผิด ๆ ให้กระจายออกไป เพราะมันอาจจะแก้ไขได้ยาก หรือไม่ทันการณ์นั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น