ประวัติเมืองเชียงราย

เมื่อเอ่ยถึงประวัติของเชียงราย จะต้องกล่าวถึงประวัติของเมืองเชียงแสนควบคู่กันไป เพราะในยุคที่ไทกำลังหนีจีนมาตั้งนครหลวงอยู่ที่แคว้นเมาและหนองแสนั้น ถิ่นที่ตั้งของจังหวัดเชียงราย เป็นที่อยู่ของชาวป่าชาวเขาพวกหนึ่งที่เรียกว่า “ลัวะ” หรือ “ละวะ” หรือ “ละว้า” และชาวป่าพวกอื่น ๆ อยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 11 ขอมมีอำนาจมาถึงอาณาจักรโตรบูร และยกเข้ามาตีแคว้นยวนเชียงขับไล่ชาติไทแล้วมาตั้งอาณาจักรขึ้นที่เชียงแสน เรียกว่า “สุวรรณโคมคำ” ที่ซากเมืองเชียงลาวใกล้ฝั่งโขงและสร้างเมือง “อุมงคเสลา” ที่ซากเมืองฝาง
ต่อมาประมาณ พ.ศ.1300 ขุนใสฝา โอรสขุมบรม กษัตริย์ไทยครองนครหนองแส ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้น บริเวณเมืองสุวรรณโคมคำที่ร้างอยู่ เจ้าสิงหนวัติกุมาร ได้อพยพคนไทประมาณแสนครัวเรือนออกจากหนองแส (ตาลีฟู) ลงมาสร้างเมืองใหม่ขนานนามว่า “เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร” หรือเมืองเชียงแสน
ปี พ.ศ.1802 พระเจ้าเม็งรายขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือและเสด็จตามช้างไปจนถึงดอยจอมทองริมแม่น้ำกกนที เห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างพระนครไว้โดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง แล้วขนานนามว่า “เมืองเชียงราย”เมื่ออาณาจักรล้านนาตกเป็นของพม่าในปี พ.ศ.2101 พม่าได้ให้ขุนนางมอญปกครองเมืองแทน เข้าสู่ยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาณาจักรล้านนาจึงกลับมาขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนสำเร็จ พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดระเบียบการปกครองใหม่ให้เชียงรายอยู่ในมณฑลพายัพ การปกครองเมืองเชียงรายจึงได้มีการจัดระบบการปกครองแบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาล จัดให้มีการบูรณะบ้านเมืองโดยเฉพาะตัวเมืองเชียงราย
หมอสอนศาสนาชื่อ นายแพทย์วิลเลี่ยม เจบริดส์ ได้ช่วยในการวางผังเมืองตามทฤษฏีผังเมืองสมัยใหม่ ภายหลังการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฏร์ได้ยกเลิกระบบเทศาภิบาลให้หัวเมืองลานนาไทยเมืองเชียงรายมีฐานะเป็นจังหวัดเชียงราย และต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงรายขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น