ชุมชนโบราณบ้านเมืองสาตร

ชุมชนโบราณอีกชุมชนหนึ่งที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ยุคเดียวกับการเข้ามาของชาวยองที่หมู่บ้านเวียงยองลำพูน หลังจากที่พระเจ้ากาวละได้ทำการขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ระหว่างปี พ.ศ.2314 – 2347 ช่วงนี้เองได้มีการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่าง ๆ ในล้านนาให้เข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ (พ.ศ.2349) อันเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” หรือ ยุคฟื้นม่านแทงม่าน ได้มีการกวาดต้อนชาวบ้านจากเมืองสาด รัฐเชียงตุงเข้ามาเป็นพลเมืองของเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากเมืองสาดเป็นหัวเมืองที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมแว่นแคว้น
หลายแห่งในบริเวณนั้น โดยถูกกวาดต้อนเข้ามาทางเมืองฝางและเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงเชียงใหม่ใช้เวลาถึง 16 คืน

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในยุคการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองอย่างละเอียด โดยกล่าวถึงการอพยพของชาวเมืองสาดว่า เป็นคนเชื้อชาติไทเขิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ชาวบ้านส่วนจะพูดภาษาเขิน ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับภาษาล้านนา โดยรวมแล้วลักษณะอาจจะเหมือนกันต่างกันเพียงแค่สำเนียงพูดเท่านั้น หลักฐานระบุอย่างชัดเจนว่าเมืองสาดเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับล้านนามาช้านาน แรกเริ่มเดิมทีเมืองสาดเป็นหัวเมืองหนึ่งของล้านนาที่มีอาณาบริเวณ
กว้างใหญไพศาลอยู่ใกล้กับเมืองเขมรัฐตุงคะ (เชียงตุง) ในอดีตการเดินทางไปมาระหว่างสองเมืองนี้จะใช้เวลากว่า 7 วัน ในสมัยของพระเจ้ากาวิละที่ทรงไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองสาดเข้ามาไว้ในเชียงใหม่นั้น ท่านได้ให้ชาวเมืองสาดพาครอบครัว ลูกเมีย บ่าวไพร่ ลงมาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ ในปีที่สิรินรธาโป่ม่านครองเมืองสาด ชาวเมืองถูกกวาดต้อนลงมาโดยมีหมื่นหลวง หมื่นน้อยเจ้าพ่อเมืองสาด แสนเมืองมา น้อยวงศ์ เมืองแจด ลงมาเป็นข้าราชบริพาร การอพยพของชาวเมืองสาดเข้ามา เป็นพลเมืองของเมืองเชียงใหม่ นั้นมามีอพยพเข้ามาหลายครั้งหลายครา แต่ในช่วงหลังจากย้ายลงมา ตั้งถิ่นฐานในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงแล้ว ชาวบ้านเมืองสาดซึ่งเป็นคนไทเขิน ได้ดำเนินชีวิตแบบพื้นบ้านตามวิถีแบบดั้งเดิม จนเวลาผ่านล่วงเลยมาหลายสิบปี ได้เกิดการผสมผสาน ทางศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ภาษา ทัศนคติและเชื้อชาติ ชาวเมืองสาดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ภายใต้การปกครองแบบหัวเมือง ประเทศราชของกรุงสยาม บ้านเมืองสาดในฐานะที่เป็นหมู่บ้านหนึ่งในเชียงใหม่

ในสมัยนั้นมีจำนวนบ้านเรือน ไม่มากนักส่วนใหญ่พื้นที่ จะเป็นที่นาและมีต้นไม้ใหญ่เป็นป่าปกคุลมตามบริเวณทั่วไป อาณาเขตของบ้านเมืองสาตร ในอดีตครอบคลุมจากบริเวณบ้านเมืองสาตร หลวงในปัจจุบันไปจนถึงวัดสันป่าเลียง แต่เดิมบ้านเรือนตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้านไม่กี่หลังเท่านั้น บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับกู่สั๋งโก๋เจดีย์โบราณอนุสรณ์สถานผู้ทำความดี ภายหลังมีการย้ายมาอยู่ที่บริเวณบ้านเมืองสาตรในปัจจุบัน ชาวเมืองที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในเชียงใหม่ระยะแรก ๆ มีอยู่ 7 ตระกูลด้วยกันคือ ตระกูลอุ้ยปัน ตระกูลอุ้ยป๊ก ตระกูลอุ้ยด้วง ตระกูลอุ้ยปวน ตระกูลอุ้ยผัด ตระกูลอุ้ยเฟย ตระกูลอุ้ยทา การปกครองเมืองสาดในอดีตนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่จะเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำหมู่บ้าน

ซึ่งในระยะแรกของการตั้งถิ่นฐานมีผู้นำชื่อ ท้าวเขื่อนคำ เป็นผู้นำชุมชนเมืองสาดนานถึง 58 ปี (พ.ศ.2380 – 2438) หลังจากนั้นมาชุมชนเมืองสาดมีผู้นำปกครองอีกถึง 8 คนด้วยกัน หลังปี พ.ศ.2526 ทางเทศบาลนครเชียงใหม่มีนโยบายเปลี่ยนหมู่บ้านให้เป็นชุมชน โดยเปลี่ยนชื่อจาก “เมืองสาด” เป็น “เมืองสาตร” ทำให้พื้นที่บ้านเมืองสาดรวมถึงจำนวนครัวเรือนต่างๆถูกแบ่งแยกออกเป็นชุมชนหลายชุมชน คือ ชุมชนเมืองสาตรหลวง ชุมชนเมืองสาตรน้อย ชุมชนใจแก้ว ชุมชน 12 สิงหา ชุมชนซอย 9 และชุมชนการเคหะแห่งชาติหนองหอย เป็นต้น

ชาวบ้านเมืองสาตรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา มีวัดเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา วัดเมืองสาตรสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2380 ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งตรงกับปกครองภายใต้การนำของท้าวเขื่อนคำ วัดเมืองสาตรเดิมเรียกว่า “วัดศรีถ้อยทรายมูล” (สะหลีถ้อยทรายมูล) ทั้งนี้เนื่องจากมีต้นโพธิ์ที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นสะหลีขึ้นเป็นแนวระหว่างสี่แยกดอนจั่นมาจนถึงบ้านเมืองสาตรหลายสิบต้น ซึ่งปัจจุบันยังปรากฏ มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่อยู่เช่นเดิม การผสมผสานระหว่างวัมนธรรมของชาวเมืองสาตร กับคนเมืองเชียงใหม่ ได้หล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรม ใหม่ขึ้นโดยการสืบทอดของคนในชุมชน เช่น ประเพณีทานข้าวใหม่ ประเพณีปีใหม่เมือง ประเพณีการรดน้ำดำหัว ประเพณีการสรงน้ำพระ ประเพณีตานก๋วยสลาก ประเพณีปอยหลวง ฯลฯ

นอกจากประเพณีพิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านเมืองสาตรแล้ว งานหัตถศิลป์ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองสาตรที่ยังคงสืบทอดมาจากบรรพบุรษสู่ปัจจุบัน เช่น งานฝีมือการทำโคม – ตุง การหล่อผางปะตีด (ประทีป) เพื่อจำหน่ายจนมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ในเชียงใหม่ลำพูน ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

อย่างไรก็ตามจากการตั้งถิ่นฐานตั้วแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนากลายเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมเมืองสาตรให้สามารถดำรงคงอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข ความผูกพันกันระหว่างชีวิต ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมก่อให้เกิด ความเป็นเอกลักษณ์ที่มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน ถึงแม้สังคมโดยรวมจะมีการเปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การคมนาคม การศึกษา ทว่าชาวบ้านเมืองสาตรยังคงดำรงชีวิตตามวิถี ทางแห่งความเรียบง่ายที่ผสมผสานกลมกลืนระหว่าง “อดีต”
กับ “ปัจจุบัน” ได้อย่างลงตัว

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น