แม่โจ้โพลล์ ชี้เหตุข้าวเหนียวแพง ทำค่าครองชีพสูงขึ้น แนะคุมราคาขาย กำหนดส่วนต่างราคาข้าวเปลือก-ข้าวสารเหนียวให้เป็นธรรม

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 70.00 ภาคกลาง ร้อยละ 13.17 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 15.94 และภาคใต้ ร้อยละ 0.89) จำนวนทั้งสิ้น 1,010 ราย ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 5 กันยายน 2562 ในหัวข้อ “คนไทยคิดเห็นอย่างไร กับราคาข้าวเหนียวที่แพงขึ้น” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับปัญหาราคาข้าวเหนียว ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่  ร้อยละ 86.14 คิดเห็นว่าราคาข้าวเหนียวในปัจจุบัน มีราคาที่แพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับความคิดเห็นต่อผลกระทบจากราคาข้าวเหนียวที่สูงขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.37 ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 26. 63 ไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า บริโภคในปริมาณไม่มากในแต่ละครั้ง
ด้านความคิดเห็นต่อวิธีการแก้ไขปัญหาจากราคาข้าวเหนียวที่สูงขึ้น ประชาชนเห็นว่า มีวิธีแก้ไข คือ อันดับ 1 คือ หันไปบริโภคข้าวประเภทอื่นทดแทน (ร้อยละ 50.10) อันดับ 2 คือ วางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และใช้จ่ายอย่างประหยัดให้มากขึ้น (ร้อยละ 34.65) และอันดับ 3 คือ ลดปริมาณการบริโภคข้าวเหนียว (ร้อยละ 29.50)เมื่อสอบถามถึงผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด จากราคาข้าวเหนียวที่เพิ่มสูงขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า อันดับ 1 คือ พ่อค้าคนกลาง (ร้อยละ 64.06) สาเหตุเพราะเป็นผู้กำหนดราคาขาย และราคารับซื้อ อันดับ 2 คือ ร้านค้าส่ง/ปลีก (ร้อยละ 18.61) สาเหตุเพราะสามารถกักตุนสินค้าได้ อันดับ 3 โรงสีข้าว (ร้อยละ 12.48) สาเหตุเพราะรับซื้อข้าวเปลือกมาในราคาที่ต่ำ และอันดับ 4 เกษตรกร (ร้อยละ 4.85) สาเหตุเพราะผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรมีโอกาสขายได้ในราคาที่สูงขึ้นสำหรับข้อเสนอแนะที่มีต่อรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเหนียวที่สูงขึ้น พบว่า
อันดับ 1ประชาชนส่วนใหญ่ เสนอให้มีการควบคุมราคาขาย โดยการกำหนดส่วนต่างของราคาข้าวเปลือกกับราคาข้าวสารเหนียวบรรจุถุง (ร้อยละ 64.26)
อันดับ 2 ส่งเสริมความรู้การปลูกข้าวเหนียวให้ได้ผลผลิตที่ดี และมีคุณภาพแก่เกษตรกร (ร้อยละ 35.25)
อันดับ 3 ชะลอการส่งออกข้าวสารเหนียวออกนอกประเทศ (ร้อยละ 24.85)
อันดับ 4 ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้เหมาะสม กับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน (ร้อยละ 14.85)
อันดับ 5 นำเข้าข้าวสารเหนียวจากประเทศเพื่อนบ้าน (ร้อยละ 8.81) และอันดับสุดท้าย แก้ไขระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การปลูกข้าวให้มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 5.45)
ข้าวเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ ถึงแม้ราคาจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคยังจำเป็นต้องซื้อและบริโภคข้าวต่อไป จากสถานการณ์ราคาข้าวเหนียวที่สูงขึ้นนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพให้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สร้างความเดือดร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อาจเนื่องมาจากผลผลิตข้าวเหนียวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดกรณีการกักตุนสินค้าจากโรงสี ร้านค้าส่ง/ปลีก ซึ่งโดยปกติแล้วหากสินค้าทางการเกษตรมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยประโยชน์นั้นตกอยู่ที่เกษตรกรเป็นหลัก ถือว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันที่ราคาข้าวเหนียวเพิ่มสูงขึ้น ผลประโยชน์กลับตกอยู่กับบุคคลเพียงบางกลุ่มที่ไม่ใช่ตัวเกษตรกร จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐและทุกภาคส่วน ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้สถานการณ์ดังกล่าว สร้างความเดือดร้อน และซ้ำเติมคนไทยผู้บริโภคข้าวเหนียวไปมากกว่านี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น