“ก้องศักดิ์” ชี้งบ 570 ล้าน ซ่อมสนาม กีฬาของ กกท. มองประโยชน์ระยะยาว

กกท.” แจง สนามสมโภชฯ ต้องซ่อมเยอะ รายละเอียดและขั้นตอนมาก ทำให้ปรับไม่ทันจัดยู 23 ” ก้องศักดิ์ ” ชี้ ประสานสมาคมให้ใช้แผนสำรองนานแล้ว ระบุงบปรับสนาม 570 ล้านบาท หวังผลระยะยาว ไม่ใช่แค่จัดยู 23 เท่านั้น กกท. ได้มองประโยชน์ระยาวที่จะต้องใช้สนามแข่งขันกีฬาทุกระดับ
ตามที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ต้นปีหน้า ซึ่งเบื้องต้นกำหนด 4 สนามแข่งขัน คือ ราชมังคลากีฬาสถาน , สนามภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต , สนามติณสูลานนท์ จ.สงขลา  และ สนามสมโภช 700 ปี เชียงใหม่ ต่อมา ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สนามสมโภชฯ จะปรับไม่ทันการใช้แข่งขัน
ขณะเดียวกัน ดร.ก้องศักดิ์ แถลงการณ์เรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมว่า สนามสมโภชฯ กับ ราชมังคลากีฬาสถาน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกท. นั้น กกท. มีแผนที่จะทำการซ่อมแซมสนามอยู่แล้ว ขณะที่งบประมาณ 570 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติเพื่อซ่อมแซมเมื่อเดือนเม.ย.62 เพื่อปรับ 3 สนาม รวมทั้งสนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ที่ จ.นครราชสีมา ที่จะใช้จัด กีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก “ไอวาส เวิลด์ เกมส์ 2020” เดือน ก.พ.ปีหน้า
ทั้งนี้ สนามสมโภชฯ ไม่ได้ซ่อมมาราว 30 ปี หากจะปรับตามมาตรฐาน สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย(เอเอฟซี) ต้องใช้เวลานานกว่าสนามอื่น นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งค่อนข้างใช้ระยะเวลาตามขั้นตอนของการ e-bidding ทำให้การดำเนินงานล่าช้า จะเสร็จไม่ทันส่งมอบสนามให้ เอเอฟซี วันที่ 24 ธ.ค.
ซึ่ง กกท. ประสานสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ตั้งแต่แรกที่ทราบว่าจะปรับไม่ทันตามกำหนดแล้ว ทราบว่าสมาคมฯ มีแผนสำรอง ส่วนสนามราชมังฯ กับที่โคราช คาดว่าจะเสร็จทัน
ผู้ว่าการกกท. กล่าวด้วยว่า การปรับปรุงทั้ง 3 สนามไม่ได้ทำเพื่อรองรับฟุตบอลยู 23 เอเชีย และไอวาส เวิลด์ เกมส์ 2020 เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้แต่ละสนามได้มาตรฐานสากล รองรับกีฬาระดับนานาชาติ พร้อมบริการสมาคมกีฬา , ประชาชน เต็มรูปแบบ ให้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด และจะดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

ร่วมแสดงความคิดเห็น