ศป.ปส.ชน. สรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2562 พร้อมพบปะขอบคุณสื่อมวลชน

วันที่ 18 ก.ย. 62 เวลา 18.00 น. ที่โรงแรม กรีนเลค รีสอร์ท เชียงใหม่ พล.ต.บรรณวัฒน์ พรหมจรรย์ ผบ.ศป.ปส.ชน. พร้อมคณะฯ พบปะสังสรรค์สื่อมวลชน จ.เชียงใหม่ พร้อมสรุปผลงานภารกิจ การจัดและพื้นที่รับผิดชอบ เนื่องด้วยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ชายแดนภาคเหนือ เป็นองค์กรในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ.2558–2562 ซึ่งกำหนดไว้จำนวน 8 ยุทธศาสตร์
โดยในปี 2562 ได้กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีเป้าหมาย “สังคมมีความปลอดภัยจากยาเสพติด” งานหลักที่มุ่งเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านป้องกัน ด้านการปราบปราม และ ด้านการบำบัดรักษา กำหนดการปฏิบัติ เป็น 4 มาตรการ 8 ยุทธศาสตร์ โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ชายแดนภาคเหนือ มีภารกิจในการ ควบคุม อำนวยการ ประสานงาน บูรณาการต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดกั้น ปราบปราม ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอชายแดนภาคเหนือ และพื้นที่อำเภอตอนใน ที่ต่อเนื่องของ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย จำนวน 21 อำเภอ
และในวันที่ 1 เมษายน 2562 ผอ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้อนุมัติการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติด ชายแดนภาคเหนือ โดยกำหนดให้ศูนย์ฯเป็นหน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ เพื่อปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จปี 2562–2564 ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 4 จังหวัดมี แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย และพะเยา 19 อำเภอ 33 ตำบล 47 หมู่บ้าน มีมาตรการในการปฏิบัติจำนวน 7 มาตรการ ขับเคลื่อนโดยคณะทำงานปฏิบัติการร่วมด้านต่างๆ จำนวน 4 ด้าน
โดยพื้นที่รับผิดชอบ ในปี 2562 จึงมีพื้นที่รับผิดชอบ ตามแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 58–62 จำนวน 21 อำเภอ และพื้นที่รับผิดชอบตามแผนปฏิบัติการ ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ ปี 62–64 จำนวน 19 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเหนือจากแผนยุทธศาสตร์ฯ จำนวน 4 อำเภอ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และพะเยา (18 อำเภอชายแดน และ 7 อำเภอตอนใน)
การกำหนดความชัดเจนในการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ กับกองกำลังป้องกันชายแดน ได้กำหนดเขตติดต่อระหว่างตำบลชายแดนและตำบลตอนใน ในการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและต้นปี 2562 ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองทัพภาคที่ 3 ได้กำหนดแผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งได้ปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดแนวทางและมอบหมายความรับผิดชอบ ให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ชายแดนภาคเหนือ รับผิดชอบ 2 ภารกิจหลัก ได้แก่
การสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติด โดยเพ่งเล็งพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่อำเภอชายแดน และพื้นที่ตอนใน สนับสนุนการปฏิบัติ ให้กับกองกำลังป้องกันชายแดน และจัดการบูรณาการความร่วมมือในการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่านระบบ Logistics โดยในปี 2562 ได้จัดหน่วยงานร่วมเข้าตรวจสอบการดำเนินการของสถานประกอบการ และดำเนินการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ด้านการสกัดกั้นและปราบปราม มีผลการปฏิบัติงาน จำนวน 6,251 ครั้ง ดังนี้ การลาดตระเวน จำนวน 1,690 ครั้ง, การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด จำนวน 4,177 ครั้ง, การซุ่มจับ/ซุ่มเฝ้าตรวจ จำนวน 84 ครั้ง, การปิดล้อม/ตรวจค้น จำนวน 381 ครั้ง
ในด้านผลการจับกุมยาเสพติด โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ปฏิบัติ และร่วมปฏิบัติ สามารถตรวจยึดจับกุมผู้ต้องหาและของกลาง ดังนี้ ยาบ้า จำนวน 36,984,155 เม็ด คิดเป็นร้อยละ 18 ของการจับกุมในพื้นที่รับผิดชอบ ไอซ์ จำนวน 308.77 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 21 ของการจับกุมในพื้นที่รับผิดชอบ และผู้ต้องหา จำนวน 543 ราย คิดเป็น ร้อยละ 70 ของการจับกุมในพื้นที่รับผิดชอบ
การจับกุมรายสำคัญของหน่วยงานร่วมในพื้นที่ จำนวน 80 ครั้ง โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ปฏิบัติเอง และร่วมปฏิบัติ จำนวน 26 คดี รายละเอียดพื้นที่การจับกุมตามภาพฉาย โดยการจับกุมรายสำคัญของ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ปฏิบัติ ได้แก่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 สามารถจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย และตรวจยึดยาบ้า จำนวน 5 ล้านเม็ด ในพื้นที่ บ.ห้วยหญ้าไซ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และทำการขยายผลจากการจับกุมสามารถตรวจยึดของกลางยาบ้าเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,096,000 เม็ด รวมของกลางยาบ้า 6,096,000 เม็ด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เวลา 09.00 น. ชป.ศป. ปส.ชน.ที่ 2 ทำการ ลงเส้นทาง พื้นที่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยได้เข้าตรวจสอบถ้ำ ในพื้นที่ บ.มูเซอป่าบงงาม ซึ่งคาดว่าจะมีการนำยาเสพติด มาซุกซ่อนพักคอยเพื่อเตรียมลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนใน ตรวจพบกระสอบต้องสงสัย จำนวน 27 กระสอบ ตรวจสอบภายในเป็น ยาบ้า จำนวน 5,330,000 เม็ด
สำหรับการจับกุมรายย่อยในพื้นที่ หน่วยยังคงดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดภายในชุมชนและค้นหาเครือข่ายในพื้นที่ตอนใน โดยมีผลการจับกุม จำนวน 380 ครั้ง (ยาบ้า 116,335 เม็ด, ไอซ์ 1.77 กิโลกรัม, เฮโรอีน 2.52 กิโลกรัม, ฝิ่น 7.03 กิโลกรัม และผู้ต้องหา 518 คน) และในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการปฏิบัติจำนวน 1,516 ครั้ง ได้แก่ ด้านการป้องกัน จำนวน 164 ครั้ง, ด้านการบำบัดรักษา จำนวน 81 ครั้ง, ด้านการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง และการบูรณาการ จำนวน 433 ครั้ง และในด้านงานนโยบายและงานที่สนับสนุนแผนงาน/โครงการที่สำคัญในพื้นที่ จำนวน 680 ครั้ง
ในการปฏิบัติการข่าวสาร สนับสนุนสำนักนโยบายและแผนกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายใน และศูนย์แก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ จำนวน 158 ครั้ง โดยมีการดำเนินการโครงการที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการติดตามผู้ผ่านการบำบัด ในพื้นที่เป้าหมายค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน ศป.ปส.ชน. และ ค่ายบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นการป้องปราม ติดตามช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพอาชีพ ให้กับผู้ผ่านการบำบัดเพื่อคืนคนดีสู่สังคม, โครงการ ราษฎร์ รัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง ส่งเสริมการเล่นกีฬาทำให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด และทำให้ประชาชนเกิดความสัมพันธ์และความร่วมมือกับหน่วย
โดยดำเนินการในหมู่บ้านที่มีการเคลื่อนไหวยาเสพติด มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ บริการตัดผม แจกผ้าห่ม และอุปกรณ์กีฬา ดำเนินการจำนวน 4 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ดำเนินการในพื้นที่ บ.ห้วยสะลัก ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย, เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ดำเนินการในพื้นที่ บ.ผาแตก ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย, เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ดำเนินการในพื้นที่ บ.รักพนา (ใหม่สุขสันต์) ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 บ.ห้วยจะค่าน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ องค์กรไฮฮุย–ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ทำให้เกิดความร่วมมือกับ จนท.รัฐ โดยมีโครงการนำร่องในการสร้างห้องสุขา ในพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอชายแดน ของ จ.เชียงใหม่ จำนวน 28 ครัวเรือน ใช้งบประมาณจำนวน 411,076 (สี่แสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันเจ็ดสิบหกบาทถ้วน) โดยได้ส่งมอบเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา
พล.ต.บรรณวัฒน์ พรหมจรรย์ ผบ.ศป.ปส.ชน. กล่าวในตอนท้ายว่า การปฏิบัติด้านกิจการพลเรือนนั้น ทำให้สามารถเพิ่มแหล่งข่าวประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเป็นโครงการซึ่งเปิดโอกาสในการเข้าปฏิบัติการด้านการข่าว สามารถเกาะติด บุคคลเป้าหมาย และเครือข่าย ที่สำคัญในพื้นที่ จนนำไปสู่การจับกุมที่สำคัญ และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศป.ปส.ชน.) จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน ให้ยาเสพติดหมดสิ้นไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น