เชียงแสน เมืองโบราณริมโขง

นครเชียงแสนหรือเมืองเชียงแสน เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากตำนานพงศาวดารโยนกได้บันทึกว่า เมืองเชียงแสนสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1871 โดยพระเจ้าแสนภูซึ่งเป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรล้านนา ต่อมาเมื่อพระองค์สละราชสมบัติให้โอรสแล้วจึงได้มาสร้างเมืองดังกล่าวขึ้น พื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงแสนนั้น ในอดีตเคยเป็นชุมชนเดิมเรียกกันว่า “เมืองรอย”ตัวเมืองเชียงแสนมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ขนานไปกับแม่น้ำโขงตัวเมืองกว้าง 700 วา(1,400 เมตร) ยาว 1,500 วา (3,000 เมตร) มีประตูเมือง 5 ประตูคือประตูยางเขื่อน ประตูหนองมุน ประตูเชียงแสน ประตูท่าม่านและประตูดินขอ มีพื้นที่ปกครอง 32 พันนา
ทิศเหนือมีอาณาเขตถึงเมืองกายสามท้าว ต่อเขตแดนเมืองเชียงตุง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงเมืองหลวงบ่อแร่ ต่อเขตแดนฮ่อ ทิศตะวันออกถึงดอยเชียงชี ต่อเขตแดนเมืองเชียงของ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ถึงดอยกิ่วค้างหวายหนองวัว ต่อเขตแดนเมืองเชียงของ ทิศใต้ถึงแม่น้ำเติม ต่อเขตแดนเมืองเชียงราย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงดอยกิ่วคอหมา ต่อเขตแดนเมืองฝาง ทิศตะวันตกถึงผาตาเหลว ต่อเขตแดนเมืองสาดและทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงเมืองไรดอยช้าง ต่อเขตแดนเมืองเชียงตุง
จากพื้นที่ในเขตปกครอง 32 พันนาจะเห็นได้ว่าเมืองเชียงแสนมีอาณาเขตไม่กว้างนักและถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1951 พระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์อาณาจักรล้านนาได้โปรดเกล้าฯให้สร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ด้วยอิฐมีป้อมปราการรวมทั้งขุดขยายคูออกไปให้ตัวเมืองมีความมั่นคงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเมืองเชียงแสนเริ่มเป็นเมืองสำคัญพลเมืองมีจำนวนมากขึ้นทั้งในระยะก่อนหน้านั้นมักมีข้าศึกเข้ามาโจมตีเมืองชายแดนของอาณาจักรล้านนาอยู่เสมอ
พ.ศ.2101 อาณาจักรล้านนาทั้งหมดตกอยู่ในความปกครองของพม่า รวมทั้งเมืองเชียงแสนด้วย ดังนั้นในช่วงเวลาต่อมาเจ้าเมืองเชียงแสนจึงมักเป็นข้าราชการพม่าผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นเจ้าเมือง จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ได้ทรงรวบรวมและพยายามขับไล่อิทธิพลของพม่าให้พ้นจากอาณาจักรล้านนา โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้ากาวิละและเจ้าเมืองหลายเมืองของอาณาจักรล้านนา ถึงกระนั้นกองกำลังบางส่วนของพม่าก็ยังคงอยู่ในเขตแดนรวมทั้งยังคงยึดหัวเมืองเชียงแสนเอาไว้ด้วยปี พ.ศ.2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้าฯให้กรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราช คุมกองทัพยกไปขับไล่พม่าที่ยังคงยึดครองเมืองเชียงแสนให้พ้นเขตแดนให้ได้ กองทัพดังกล่าวทำการรบมีชัยชนะ สามารถขับไล่พม่าออกไปพ้นเขตแดนได้ และเพื่อความปลอดภัยกันไม่ให้พม่าเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่เมืองเชียงแสนอีก จึงได้โปรดเกล้าฯให้อพยพราษฏรออกจากเมืองเชียงแสน ให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมปราการไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ข้าศึกได้อีกต่อไป ราษฏรที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสนบางส่วนได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเสาไห้ จังหวัดสระบุรีและที่บ้านบัวคู จังหวัดราชบุรีบ้าง รวมทั้งกระจายอยู่ในเมืองต่างๆของภาคเหนือ ดังนั้นเมืองเชียงแสนจึงได้กลายเป็นเมืองร้างมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
ปี พ.ศ 2420 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้ราษฏรที่เคยอยู่ในเมืองเชียงแสนมาตั้งแต่เดิมสมัครใจที่จะกลับไปตั้งถิ่นฐาน สามารถเดินทางกลับไปได้และได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองเชียงแสนขึ้นอีกครั้งหนึ่งขึ้นกับเมืองเชียงราย ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองท้องถิ่น เมืองเชียงแสนจึงมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดเชียงราย
หลังจากเหตุการณ์ รศ.112 (พ.ศ.2436) ที่ว่าการอำเภอเชียงแสนต้องย้ายจากชายแดนตามสัญญา เป็นผลให้ราษฏรต้องอพยพตามมายังที่ว่าการแห่งใหม่ที่แม่จัน จนเมืองเชียงแสนกลับเป็นเมืองร้างอีก กระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ยุบเป็นกิ่งอำเภอแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง จนถึง พ.ศ.2481 จึงกลับมาใช้ชื่อกิ่งอำเภอเชียงแสนและยกฐานะเป็นอำเภอเชียงแสนจนปัจจุบันนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2500
ปัจจุบันอำเภอเชียงแสนมีความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น มีการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองต่างๆทั้งในและนอกประเทศ เมืองเชียงแสนจึงได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเมืองหนึ่งของเชียงรายที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังเมืองเชียงแสนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลหมุนเวียนอยู่ในเมืองนี้ โดยเฉพาะที่บริเวณแหล่งท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดของเชียงแสน.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น