คณะแพทยศาสตร์ มช. ชี้แจงข่าว กรณีมีข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เรื่องสารเคมีรั่วไหล ในโรงพยาบาลมหาราชนคร

คณะแพทยศาสตร์ มช. จัดแถลงข่าวสื่อมวลชน ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีมีข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเผยแพร่เรื่องสารเคมีรั่วไหลในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยมี ผศ.นพ.วิชัยชื่นจงกลกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าว ร่วมกับศ.นพ.คม สุคนธสรรพ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และ อ.นพ.ดิเรก บรรณจักร หัวหน้าหน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มช.
สารเคมีที่รั่วไหล
สารเคมีชื่อ Sanacide-R8 องค์ประกอบคือ
Paracetic acid 4.5%
Hydrogen peroxide 27%
Acetic acid 8%
สารดังกล่าว มีองค์ประกอบของสารที่มีลักษณะเดียวกับน้ำส้มสายชู และสารที่ใช้ในการทำความสะอาดบาดแผลทั่วไป แต่มีความเข้มข้นสูงกว่า ประโยชน์ใช้งานเพื่อทำความสะอาด เครื่องกรอง และตัวกรอง ของเครื่องฟอกไต บรรจุเป็นแกลลอน เก็บไว้จำนวนพอใช้งาน ในห้องไตเทียม ขณะบรรจุภาชนะ เพื่อทำให้เจือจาง ข้อต่อสายมีการหลุด จึงเกิดการรั่วของสารเคมีดังกล่าว
การบริหารจัดการพื้นที่ ที่รั่วไหล
เมื่อตรวจพบการรั่วไหลของสารดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องซึ่งทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่าในห้องไตเทียมมีสารนี้ ที่เป็นสารเคมีสำคัญ และออกฤทธิ์สามารถระเหย และมีกลิ่นที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ได้ปฏิบัติการเบื้องต้นคือ ใส่ชุดป้องกันพื้นฐาน และตัดไฟเครื่องที่ทำงานภายในห้องไตเทียม และปิดกั้นพื้นที่ เพื่อให้การระเหยไม่กระจายในวงกว้าง จากนั้นได้รายงานผู้บริหารทันที
เมื่อผู้บริหารรับทราบ ได้เข้าพื้นที่ และประสานงานตามแนวทางการจัดการสารเคมี โดยการปิดกั้นพื้นที่ ให้การระเหยของสารนี้ อยู่ในวงจำกัด ในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการระเหยของสารนี้เข้าไป ได้อพยพ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และหยุดบริการในพื้นที่ดังกล่าว แต่การเข้าพื้นที่ที่มีสารที่ระเหย ซึ่งทางโรงพยาบาลยังไม่ทราบความเข้มข้นของสารที่ระเหย จึงได้ประสานงานขอความช่วยเหลือไปยัง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ (ฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ) เพื่อเข้าพื้นที่และดำเนินการเก็บกู้สารเคมีดังกล่าว ทีมเผชิญเหตุจาก ปภ. เชียงใหม่ ร่วมกับทีมจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้เข้าพื้นที่พร้อมชุดป้องกัน ระดับ B ทำการเก็บกู้สารเคมี บรรจุในถุง ปิดผนึก แล้วบรรจุลงถังให้มิดชิด นำไปเก็บไว้ในพื้นที่เก็บสารเคมีของโรงพยาบาล และเข้าสู่ระบบการทำลายขยะสารเคมีของโรงพยาบาลต่อไป
การดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารที่รั่วไหล
ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารที่ระเหย และผู้ที่สัมผัส ได้ถูกส่งตัวไปที่ห้องฉุกเฉิน และห้องฉุกเฉินได้ เปิดแผนอุบัติภัยสารเคมีระดับที่ 1 ตามที่ทางโรงพยาบาลมหาราช ได้ซ้อมมาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ โดยได้เปิดห้องล้างตัวของโรงพยาบาล ทำการล้างตัวของที่สัมผัส และรู้สึกระคายเคือง จากนั้นได้ให้การตรวจประเมินและรักษา มีผู้ที่มีอาการระคายเคือง แสบตามาที่ห้องฉุกเฉินและได้รับการล้างสารปนเปื้อนตามแนวทางของโรงพยาบาล
ผู้ที่เข้ามารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน มีจำนวน 27 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของคณะแพทยศาสตร์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นพยาบาล แพทย์ และช่างเทคนิค มีอาการ ระคายเคืองที่ตา จมูก ได้รับการล้างทำความสะอาด ตรวจสอบเยื่อบุตา และพบว่า ไม่มีอาการใดๆ รุนแรง และสามารถให้กลับบ้านได้ทั้งหมด

ร่วมแสดงความคิดเห็น