ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ปิดกิจกรรมยกระดับหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์

วันพฤหัสบดีที่ 19 เดือน กันยายน พ.ศ. 2562 นางสาวนิรามัย  ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เป็นประธานพิธีปิดกิจกรรมยกระดับหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์
ภายใต้โครงการยกระดับหัตถกรรมท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ประจำปีงบประมาณ 2562(กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน1)พร้อมมอบวุฒิบัตรให้กับผู้ประกอบการจำนวน 17รายที่เข้าร่วม กิจกรรม ณ ห้องนิมมาน 1 โรงแรมยู นิมมานเชียงใหม่นางสาวนิรามัย  ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ผลักดันและขับเคลื่อนโครงการยกระดับหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์จนสำเร็จลุล่วงซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพและก่อให้เกิดการกระตุ้นเพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำนวัตกรรม เทคนิค แนวคิดเชิงสร้างสรรค์ มาต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเขินให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย
และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลในการประกวดทุกท่าน และขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกท่านในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องเขินของภาคเหนือออกสู่สายตากลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมายต่อไปในอนาคต ในส่วนของภาครัฐ เรามีความตั้งใจในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเขินซึ่งเป็นภูมิปัญญาของภาคเหนือให้เกิดความยั่งยืน
โดยได้อนุมัติโครงการให้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องเขินภาคเหนือขึ้นด้วย ภายในบริเวณศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้และดำเนินกิจกรรมในการสืบทอดภูมิปัญญาเครื่องเขินให้ดำรงอยู่ต่อไป และดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้จะเป็นประโยชน์และส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเขินของภาคเหนือต่อไปในอนาคต
นางพรสวรรค์  หมายยอด ผู้อำนวยกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน  ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นที่นิยม     มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศ สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก  ประกอบกับงานหัตถกรรมในท้องถิ่นของภาคเหนือ เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว  ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่งานหัตถกรรมเครื่องเขินของภาคเหนือถือว่าเป็นงานหัตถกรรมที่มีอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมาช้านาน เป็นงานด้านหัตถศิลป์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อเป็นการเผยแพร่และยกระดับงานหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จึงได้จัดทำโครงการยกระดับหัตกรรมท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ และได้ดำเนินกิจกรรมยกระดับหัตกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ โดยมีวัตถุประสงค์1. เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และรักษาภูมิปัญญาเครื่องเขินล้านนา 2. เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใน ปัจจุบันสามารถตอบสนอง ความต้องการของ ผู้บริโภคที่มองไม่เห็นหรือยังไม่ได้รับการตอบสนอง 3. เพื่อให้เกิดการคิดค้นการใช้งานรูปแบบใหม่ ที่ผลิตภัณฑ์เดิมไม่เคยทำมาก่อนหรือสร้างคุณค่าใหม่ใน สายตาของกลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จึงได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการเรียบร้อยแล้วได้แก่ รวบรวมองค์ความรู้  สำรวจและวิเคราะห์สภาวะเครื่องเขินในระดับจังหวัด และระดับภาค โดนจัดทำเป็นรูปเล่มแยกรายจังหวัดและรายภาค,การถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบแก่ผู้ประกอบการเครื่องเขิน 4 พื้นที่ รวม 81 คน,ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ แก่ผู้ประกอบการจำนวน 17 ราย ได้ผลงานจำนวน 34 ชิ้นงาน อีกทั้งมีการ จัดประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินภายใต้แนวคิด “หัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์” และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดจำนวน 5 รางวัล
นอกจากนี้ จัดกิจกรรมเพื่อทดสอบตลาด เพื่อสำรวจแนวคิดของผู้เข้าชมงานต่อรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาในการผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาด ซึ่งผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบและพัฒนาได้เข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบันและจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องเขินล้านนา ภายใต้ชื่องาน “ lifestyle lacquerware 2019” เพื่อเผยแพร่รูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องเขินในแนวไลฟ์สไตล์ และเกิดการซื้อขายภายในงานมูลค่า 300,000 บาท
การจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นการสรุปผลและปิดกิจกรรมยกระดับหัตถกรรมเครื่องเขิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและหาแนวทางการพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมเครื่องเขินต่อไปในอนาคต กิจกรรมในงานประกอบด้วย 1. การเสวนาเรื่องทิศทางแนวโน้มทางการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องเขินไลฟ์สไตล์  2.การระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อหาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเขินต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น