สองแถวเชียงใหม่ รายได้ลด หวั่นเปิดศึกแย่งชิงลูกค้า

กลุ่มผู้บริการรถโดยสารสาธารณะ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าผลกระทบจากผู้โดยสารชาวไทยและชาวต่างชาติ ใช้บริการรถรับ-ส่ง ผ่านแอพพลิเคชั่น แกร๊ป ฉุดรายได้ลด จนแทบจะอยู่กันไม่ได้ บางคัน บางวัน หักค่าน้ำมัน ต้นทุนค่าใช้จ่ายเหลือไม่ถึง 2-3 ร้อยบาท ผู้บริหารสหกรณ์นครลานนา เดินรถ จำกัด ยืนยันว่า สหกรณ์มีสมาชิกรถบริการสาธารณะ หรือที่ชาวบ้านเรียกรถแดง จำนวน 2,465 คัน ที่ผ่านๆมา มีการร้องเรียนหลายด้าน รถที่มีปัญหา ส่วนใหญ่มาจากรถปล่อยให้เช่า แตกต่างจากรถที่สมาชิกขับเอง
จะเป็นคนในพื้นที่ พยายามรักษาภาพพจน์การบริการ แต่พอเกิดเรื่องมีปัญหาก็มักจะเหมารวม ตามที่สื่อสังคมระบุด้าน”ลุงคำ” (นามสมมติ ) คนขับรถแดงวัย 60 ปี ย่านกาดหลวง เชียงใหม่ เล่าว่า รถแดง เป็นเอกลักษณ์คู่เมืองเชียงใหม่ สมัยก่อน มีรถเมล์เหลือง รถสองแถว สายต่างๆ วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากอำเภอ รอบนอก ตามคิวประจำ ต่อมามีรถเมล์ของเทศบาล สารพัดรถเข้ามา รวมถึงแกร๊ปคาร์อีกนับพัน คนที่พึ่งพารถแดง เป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวย่ำแย่ไปตามๆกันจนกระทั่งกลุ่มรถแดง เริ่มตั้งกลุ่มย่อยๆขึ้นมา เช่น กลุ่มรถนำเที่ยว เป็นรถใหม่ๆ ,กลุ่มรถเก่าที่ปล่อยให้คนอื่นขับ รอรับค่าเช่าสบายๆ และกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่ตระเวณรอรับส่งผู้โดยสารที่เดือดร้อนหนัก พากันไปร้องทุกข์หน่วยงานต่างๆไม่มีอะไรคืบหน้า จะร่วม 10 ปีแล้ว ยิ่งปีหน้า หากไฟเขียวให้แกร๊ปวิ่งตามเมืองท่องเที่ยวหลัก รับรองวุ่นแน่
ผู้นำชุมชน บ้านโป่งแยง อ.แม่ริม กล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านที่วิ่งรับส่งในเส้นทางประจำ ก็เริ่มไม่พอใจที่กลุ่มรถแดง นำเที่ยวรถใหม่ๆ รวมถึง กลุ่มแท๊กซี่ จะอ้างว่า อยู่ที่ลูกค้าเรียกใช้ รถสองแถว รถร่วมบริการในพื้นที่ อำเภอรอบนอก รู้สึกเหมือนกำลังถูกแย่งพื้นที่ทำมาหากิน บางกลุ่มเคารพกฎกติกา เช่น เหมารถแดงไปส่งเที่ยวดอยอินทนนท์ ส่งต่อรถเหลือง คิวประจำในพื้นที่ก็แบ่งปันกัน ไม่กินรวบ ก็อยู่กันได้ แต่ตามม่อนดอย แหล่งท่องเที่ยวดังๆ แถวๆแม่ริม ,เชียงดาว รถแดง,รถเหมาพากันลากยาวรอรับส่งตั้งแต่ในเมือง จนถึงที่พัก พาเที่ยว ถ้าไม่หาทางป้องกันฤดูท่องเที่ยวนี้ ระวังจะมีปัญหา กระทบกระทั่งกัน รถในพื้นที่ก็ต้องหากิน หาเงินค่าน้ำมัน ไม่ใช่รถเติมน้ำเปล่าแล้ววิ่งได้จากการตรวจสอบข้อมูลด้านขนส่ง พบว่า เชียงใหม่มีแผนบริหารจัดการ ขนส่งสาธารณะ หลากหลายนอกเหนือจาก รถสองแถวแดง 2,465 คัน ให้บริการไม่เกินวงแหวนรอบ 2 ค่าโดยสารไม่เกิน 30 บาทต่อคน ราคาเหมาไม่เกิน 200 บาท รถมินิบัสเทศบาลนครเชียงใหม่ 18 คัน( มารองรับรถเมล์เก่า 26 คันที่เหลือเพียง 4 คัน ในขณะนี้) อีก 18 คันบริการ 3 เส้นทาง สายอาเขต-อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย สายอาเขต-สนามบิน และ สายอาเขต-ศูนย์ราชการฯ ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย นักเรียน 10 บาท
นอกจากนี้ ยังมีรถเมล์แอร์ อาร์ทีซี บริการ 17 คัน 3 เส้นทาง สาย R3 สนามบิน-ถ.นิมมาน-รอบเมืองเก่า-กาดหลวง-ไนท์บาซาร์ สาย R1 สวนสัตว์ -ขนส่งช้างเผือก- ตลาดวโรรส -อาเขต- เซ็นทรัลเฟสฯ สาย R2 พรอมเมนาดา-มหิดล-หนองหอย-พระหฤทัย-ไนท์บาซาร์-คูเมือง-สนามบิน ค่าโดยสาร 20 บาท บริการ 06.00-23.00 น.

ในอนาคต ยังมีแผนจัดสร้างรถรางไฟฟ้า สาย รพ.นครพิงค์-สนามบิน อีกด้วย ซึ่งการดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะ เชียงใหม่ไม่ประสบผลสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งมาจาก เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีรถส่วนบุคคลมาก ติดอันดับท๊อปไฟว์ของไทย ผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้รถส่วนตัว จะเห็นได้จากสถิติในรอบ 10 ปี(พ.ศ. 2551-2560) คนเชียงใหม่ซื้อรถยนต์ และจักรยานยนต์ใหม่ ถึง 878,974 คัน เฉลี่ยปีละ 87,897 คัน เดือนละ 7,325 คัน เฉลี่ยวันละ 241 คัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น