“ยาเสียสาว” คืออะไร? ป.ป.ส. เตือนภัยจากการใช้ยาในทางที่ผิด อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นย้ำให้ดำเนินนโยบายในทุกมาตรการ โดยเฉพาะการป้องกันยาเสพติดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีความหลากหลาย และแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความอยากรู้ อยากลอง
จากกรณีที่มีข่าวการใช้สารที่เรียกว่า “ยาเสียสาว” ของกลุ่มวัยรุ่น โดยผสมในน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อความมึนเมา ส่งผลให้เกิดอาการสะลึมสะลือมึนงง หากมีการใช้เกินขนาดหรือใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่านำมาใช้ประกอบอาชญากรรมในรูปแบบของการมอมยา รูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศ ตามสถานบันเทิงต่างๆ บางรายถึงกับเสียชีวิต ขณะเดียวกันก็มีคดีการจับกุมผู้กระทำความผิด ที่เกี่ยวกับยาตัวนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การใช้ยาดังกล่าว มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น

“ยาเสียสาว” คือ สารที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ประสงค์ร้ายแอบลักลอบนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม มีหลายชนิด อาทิ อัลปราโซแลม เคตามีน มิดาโซแลม สาร GHB ที่นิยมนำไปใช้ในทางที่ผิด มักอยู่ในรูปแบบที่เป็นของเหลว มีลักษณะใส ไม่มีสี กลิ่น และรสชาติ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้มีอาการง่วงนอน มึนงง คลื่นไส้อาเจียน เคลื่อนไหวลำบาก หากได้รับยาในขนาดที่สูงมาก อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของหัวใจ กดการหายใจ ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้
ตามกฎหมายได้กำหนดบทลงโทษ ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท พ.ศ. 2559 สำหรับผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท สำหรับผู้ขาย ต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท สำหรับผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และสำหรับ ผู้เสพ ต้องโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้ออกมาแจ้งเตือนว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. ตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องระมัดระวัง จึงขอให้ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เฝ้าระวังการซื้อยาผ่านทางเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมทั้งตักเตือนหากพบพฤติกรรมที่จะนำไปสู่อันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้ โดยเฉพาะการไปเที่ยวสถานบันเทิงในยามวิกาล สุ่มเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงให้ใช้สารดังกล่าว จึงขอความร่วมมือให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันสอดส่องดูแล ไม่ให้มีการมั่วสุมใช้สารเสพติด รวมถึงควบคุมอย่างเข้มงวด ที่จะไม่ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการ และที่สำคัญหากพบเห็นผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น