ชาวบ้าน อ.พร้าว ทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศล สร้างอนุสาวรีย์ “พระเศวตวรวรรณ สรรพสิทธิคชลักษณ์สมพงษ์”

พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. พร้อมด้วยคณะศรัทธาผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายในอำเภอพร้าวและต่างอำเภอ ต่างจังหวัดรวมไปถึงภาครัฐและภาคเอกชน นำโดย ร.ต.ท. นคร ปัญญาทิพย์ ที่ปรึกษาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอพร้าว นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนาและโครงการธรรมชาติปลอดภัย ร่วมกันจัดทำบุญทอดผ้าป่าเพื่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาช้างเผือกเมืองพร้าว ที่แกะสลักจากหยกขาว หนัก 4 ตัน นำเข้าจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ และซุ้มมณฑปครอบอนุเสาวรีย์พระยาช้างเผือกเมืองพร้าว (พระเศวตวรวรรณฯ) ที่วัดบ้านเหล่า ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว ซึ่งเป็นถิ่นเกิดของพระยาช้างเผือก เมื่อ 152 ปีล่วงมา มีศรัทธามาร่วมทำบุญกันจำนวนมาก
ในโอกาสมงคลครั้งนี้ ลูกหลานของปู่แสน เจ้าของพระยาช้างเผือกเมืองพร้าว ได้นำของพระราชทานที่ได้รับจากพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่และตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่รัชกาลที่ 5 มามอบให้ด้วย จากความสามัคคีและบารมีแห่งพระยาช้างเผือกเมืองพร้าว (พระเศวตวรวรรณฯ) จึงทำให้ได้ปัจจัยจากการทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศลเพื่อสร้างอนุสาวรีย์และมณฑปได้จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเมืองพร้าวและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการะบูชา(พระเศวตวรวรรณฯ)
สำหรับประวัติช้างพลายสีประหลาด พระเศวตวรวรรณ สรรพวิสุทธิคชลักษ์สมพงษ์ หนิมศักดิ์ธำรงมิ่งมงคลรัตนาศน์ จักรพรรดิราชกุญชรหัสดินทรรัตน์ประเสริฐเลิศฟ้า ตามบันทึกของหนานอินต๊ะอักษรได้บันทึกไว้ว่า ปีเมืองเหม้า จุลศักราช 1229 9 ตัว เดือน 4 (เหนือ) แรม 8 ค่ำ (วันที่ 17 มกราคม พ.ศ 2410 ปีเถาะนพศก) ช้างปู่แสนบ้านเหล่า เกิดเป็นช้างโก้ง (ด่าง) แสนวงบ้านท่อ (อ.เมืองเชียงใหม่) รับอาชญาพระเจ้าชีวิตกาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ขึ้นมาเป็นกรรมการหมู่เมืองพร้าว ได้รักษา (ช้าง) มีนายบุญมา หนานอินต๊ะ ปั้นแบบแต้มหมายที่โก้งแสนวงเอาแบบลง (ไปเชียงใหม่)
ต่อมาช้างสีประหลาดเชือกนี้ถูกนำไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ 2512 และได้รับการแห่ขึ้นโรงสมโภชขึ้นระวาง ทรงพระราชทานนามว่า พระเศตวรวรรณ สรรพสิทธิคชลักษณ์สมพงษ์หนิมศักดิ์ธำรงมิ่งมงคลรัตนาศน์ จักรพรรดิราชกุญชรหัสดินทรรัตน์ประเสริฐเลิศฟ้า
พระเศตวรวรรณ เป็นช้างที่สำคัญช้างที่หนึ่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นลูกช้างด่างตกที่เมืองพร้าว พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครอบครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 โปรดให้หนานไชยวงศ์ พระยาไชยเลิก คุมลงมาถวายที่กรุงเทพมหานคร
เดินทาง เมื่อวันขึ้น 6 ค่ำเดือน 1 ปี มะเส็ง เอกศก จุลศักราช 1231 ตรงกับ พ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง ณ โรงพิธีสนามชัย พระราชทานนามว่าพระเศตวรวรรณฯ และโปรดฯ ให้สร้าง โรงช้างต้นขึ้น ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น ถนนอู่ทองใน ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้ตั้งนามและแต่งคำฉันท์ดุษฎีสังเวย กล่อมพระเศวตวรวรรณฯ

ร่วมแสดงความคิดเห็น