แก๊ง…ในเชียงใหม่ จากอดีตถึงปัจจุบัน

บริบทสังคมทุกถิ่นฐานในบ้านเรา เกี่ยวกับเรื่องเล่า”ชาวแก๊ง”ต่างๆ ในชุมชน หมู่บ้าน จนถึงระดับประเทศนั้น สังคมไทย มักจะคุ้นเคยความเถื่อนถ่อยของกลุ่มนักเลงช่วงปี พศ.2499 ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นยุคอันธพาลครองเมือง เหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่น ในเมืองเชียงใหม่ รุมสกรัมคู่อริวัย 30 เศษ จนตับแตกตายคาขัวเหล็ก หรือสะพานข้ามลำน้ำปิง ล่าสุด
ปรากฎการณ์ที่แบ่งปันกัน ในสื่อสังคม มีหลากหลายความคิดเห็นว่า เหตุใด สังคมเชียงใหม่ จึงเกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และบริเวณเกิดเหตุร้าย ๆ บ่อยครั้งที่”ขัวเหล็ก” ก็ถือเป็นแลนมาร์ค จุดเซลฟี่ดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เมืองที่ติดอันดับการลงทุนพัฒนาเครือข่ายกล้องวงจรปิด ซีซีทีวี. แบบตาสับปะรดทุกเส้นทางจรทั่วบ้าน ทั่วเมือง มูลค่า กว่าพันล้านบาท
มาทำความรู้จัก “ชาวแก๊ง..ในเชียงใหม่กันขออนุญาตยึดช่วงเวลาก่อน-หลังปีพศ.2500 ให้ง่ายต่อการสืบค้น เอกสารสื่อ สิ่งพิมพ์ท้องถิ่น หลาย ๆ ฉบับ ที่รวบรวมไว้ในหอสมุด จ.เชียงใหม่ สรุปอย่างย่นย่อว่า ปฐมบทราว ๆ ปี 2478 เด็ก ๆ ที่สมัครใจมาเรียน”แม่โจ้” รุ่นแรก ๆ ส่วนใหญ่ เป็นเด็กต่างถิ่นจาก ภาคกลาง ใต้ อีสานบ้าง สมัยนั้นการเข้าเมืองไปสนุกสนานตามประสาวัยรุ่นให้หนำใจแถว ๆ โรงหนังศรีวิศาล  , งานฤดูหนาว , งานลอยกระทงบ้าง วงโคจรระหว่าง “เด็กต่างถิ่น” กับ”เจ้าถิ่น” ความไม่ใช่พวก เพราะอู้กำเมืองกับพูดไทย…แค่นั้น ก็เปิดศึกต่อยตีกันได้
ยกตัวอย่าง “กลุ่มศรีพิงค์” ที่เลื่องลือยุคนั้นจะมี พันจิ้น , เกี้ยว , อาจ , ฮ้อ ส่วนกลุ่มแม่โจ้ จะเป็น”ทองดี , จีรเดช , ม.ลฉาบชื่น แผ่พืช “หลาย ๆ คนเป็นลูกหลานข้าราชการ “ขาลุย”หลาย ๆ คน..ว่ากันตามจังหวะชีวิต ว่ากันว่าเบ้าหลอมชีวิตในแม่โจ้ยุคแรก ๆ ทำให้รักกันดุจพี่น้อง จะไปท้าตีท้าต่อยไม่มี ถ้าถูกรังแก มากน้อยไม่ยี่หระ ไม่มีถอย หันหลังพิงกันสู้ขาดใจ
เหตุกระทบกระทั่งกันหลัก ๆ คือ เมา และห้าวตามวัย วีรกรรมเด่นดัง ๆ มาก ๆ ก็เริ่มมีหลายกลุ่มแก๊งอยากลองดี โดย “ร้านเจ๊ลีหน้าโรงหนังศรีวิศาล” จะเป็นที่รวมกลุ่มแม่โจ้ กลุ่มแก๊งเด็กเมืองยุคนั้นจะกระฉ่อน ลือเลื่องกว่าถิ่นรอบนอก มีตี ต่อยกันเป็นระยะ ๆ จนลามเข้าไปถึง การแข่งขันกีฬา “บอลแพ้คนไม่แพ้” มีเรื่องกันทุกนัด หนักสุดก็เหตุการณ์เมื่อ 11 สิงหาคม2518 ปิดสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ถล่มกันเละ ทั้งระเบิดขวด ต่อยตีกันชุลมุน ทำให้นักเรียนเทคนิคตาย 2 เด็กวิทยาลัยพละ สาหัส 6 ราย
ยุคนั้นพวกช้างม่อย ,อินทรีย์ขาว , กลุ่มศาลเจ้า เป็นลูกครึ่งคนจีนและคนเมือง ปักหลักแถว ๆ ตลาดต้นลำไย เกาะกลุ่มกัน รวมแก๊งช่วงปีพ.ศ.2490-2510 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพบ้านเมืองขัดสน ครอบครัวดิ้นรน ผู้ปกครอง ไม่มีเวลาใส่ใจดูแลลูกหลาน ไม่ว่ายุคสมัยใด หากครอบครัวปล่อยปละละเลยลูกหลาน เข้าตำรา คบเพื่อนดีก็ดีไป ไม่ติดคุก ก็ไปก่อนวัยอันควรจาก การทะเลาะวิวาท เล่นยา เป็นต้น
ช่วงพ.ศ.2506-07 โรงฝิ่นเลิกไป แต่วัยรุ่น ในเชียงใหม่ บางส่วนที่เคยล่อฝิ่นหันมาฉีดผง คล้ายๆยุคนี้ที่มี ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี หลาย ๆ กลุ่มแก๊ง พอมีเรื่องยาเสพติดเข้ามา เจ้าหน้าที่บ้านเมือง กวาดล้าง กดดันหนักค่อย ๆ สลายกลุ่มไป กุศโลบาย ที่ใช้” วิธีเลี้ยงขโมยไว้จับขโมยนั้นเริ่มใช้ไม่ได้” ก่อนมีผู้ว่าฯ , นายอำเภอ ใช้ระบบเทศาภิบาล จัดการบ้านเมือง มี “กรมการนักเลงโต” ดูแลท้องถิ่นใช้ “นักเลง “ช่วยงาน เจ้าเมือง เครือข่าย นักเลง อันธพาลตามชุมชน หมู่บ้าน ตำบลต่างๆแถวบ้านนอกชนบท จึงเกิดขึ้นมากมายจากเหตุผลนี้ด้วย
งานวิจัย โครงการการจัดการองค์ความรู้เด็กและเยาวชนที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊งของเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือภายใต้การสนับสนุนของวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) เก็บข้อมูลเด็กแก๊งในเขตเมืองและ อ.รอบนอกเชียงใหม่มีสาระน่าสนใจว่า กลุ่มแก๊ง ในเชียงใหม่ ช่วงก่อนปี 2546 กว่า 50 แก๊ง เช่น แก๊งซามูไร แก๊งดาราเพราะกลุ่มเด็กช่วงวัย 13-20 ปี มักจะมารวมกันแถว ๆ หน้าโรงเรียนดารา ราว ๆ ปี 2539 แก๊งหญ้าคา , แก๊งเศษเดน ที่รวมพลของเด็กเล่นเกมส์ และ “แก๊งบิน ลาเดน” ที่สร้างชื่อจากลงมือเชือดสมาชิกแก๊งฝ่ายตรงข้าม
รวมตัวเป็นแก๊งจากจุดเริ่มเพื่อรักษาพื้นที่ชุมชน , สถาบัน , เป็นศูนย์รวมเด็กมีปัญหา เมื่อมีสมาชิกหลากหลาย มีเรื่องค้าประเวณี ค้ายา ชิงทรัพย์ และความรุนแรงในการก่อเหตุ ในงานเทศกาลสำคัญๆของท้องถิ่น งานประเพณี , การแสดงคอนเสริทต์ กระทั่งงานบุญปอยหลวง งานบุญต่าง ๆ ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ประสานความร่วมมือกันกับท้องที่ , ผู้นำชุมชน , ฝ่ายปกครอง กวาดล้าง กดดันอย่างหนัก จนแตกกระเจิง ราว ๆ ปี 2546 ก่อนจะมีการประกาศสงคราม ยาเสพติด ปรากฎการณ์หัวหน้าแก๊ง แต่ละสายหายไปทีละราย ๆ บ้างก็ตายไม่ทราบสาเหตุ , รถชน , เกิดอุบัติเหตุ มีผลต่อชาวแก๊งหายวับไป
เริ่มมาโผล่อีกในปี 2559 จากกลุ่มเด็กต่างด้าว ต่างถิ่น ที่มักจะสร้างกระแสในสื่อสังคมว่า เป็นแก๊งเด็กไทใหญ่ , เด็กภาคอื่น ๆ ให้เด็กเมือง เจ้าถิ่น เกิดความเกลียดชัง ท้ายที่สุดพวกมากลากไป มีการเปิดศึกตามงานแสดงดนตรี งานต่าง ๆ ในแต่ละอำเภอ รวมถึงนครเชียงใหม่ สร้างความหวาดผวาต่อชาวบ้านทั่วทั้งจังหวัด เป็นข่าวฉาวโฉ่ดังกระฉ่อน ส่งผลต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่ควรเป็น เมืองแห่งความปลอดภัย ทำให้เกิดมาตรการ “ยาแรง” จากหน่วยงานทหาร , ตำรวจ , ปกครอง สนธิ กำลังแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ ปูพรม ตรวจสอบแบบเครือข่ายใยแมงมุม ” อดีตผกก.สืบ” ในภาค 5 ยืนยันว่า ทุกชุมชน เฝ้าระวัง ตลอด ที่เกิดเรื่องก็จากกลุ่มที่คิดว่า มีลูกพี่ใหญ่เลยกร่าง
ตั้งกลุ่มช่วยงาน หนักๆเข้าเลอะเทอะ หาเรื่อง เพราะ”เมา” ขาดสติ จะเมายา เมาเหล้าก็ว่ากันไป ตามสถานที่อโคจร ช่วงเวลาเกิดเหตุ เป็นสถานที่และช่วงเวลาที่ผู้คนปกติทั่วๆไปไม่ข้องแวะอยู่แล้ว แต่โดยภารกิจ หน้าที่ งานสอดส่อง คุ้มครอง ดูแล ความปลอดภัยทุกท้องที่ ต้อง 24 ชั่วโมง ก็น่าเห็นใจระดับปฏิบัติการ จะไปเฝ้าซุ่มโป่งตลอดก็ไม่ไหว ทักษะ การถ่ายทอดประสบการณ์ จากรุ่นสืบรุ่น แต่ละท้องที่ พร้อมๆอุปกรณ์ ซีซีทีวี. เชื่อมโยงกันยากจะหลุดรอดกรณีล่าสุดที่ “ขัวเหล็ก” กระทืบ รุมสกรัมกันจนตาย ก็ จับได้ในเวลารวดเร็ว อย่าสื่อสาร ใส่ร้ายป้ายสีเชียงใหม่แบบเอามันส์กันเลย
ขอย้ำเตือนกันว่า กลุ่มวัยรุ่น วัยห้าว ทั้งหลายคิดให้รอบคอบ หากจะทำอะไรลงไป คนที่เดือดร้อนคือครอบครัว จะไม่ใช้คำว่า แก๊ง.. แล้ว เพราะยุคนี้ไม่มี ที่ใช้กันเป็นภาษาข่าวมากกว่า อยากเตือนน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ ให้เรียนรู้การใช้ชีวิต “ใหญ่แค่ไหนก็ไม่อยู่เหนือกฎหมาย ฉากจบของชีวิต เลือกได้ว่าจะไปอยู่คุก หรือ เจ็บ พิการ เพื่อนไม่ดี อย่าไปคบ “

ร่วมแสดงความคิดเห็น