“สะเมิง” แหล่งปลูกสตรอเบอรี่และชุมชนไทลื้อโบราณ

อำเภอสะเมิงเป็นแหล่งปลูกสตรอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งให้ผลผลิตปีละประมาณ 8,952 ตันสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละกว่า 270 ล้านบาท ด้วยภูมิประเทศที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรอยู่ในหุบเขาและมีอากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี จึงทำให้อำเภอสะเมิงได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็นดินแดนแห่ง “สตรอเบอรี่รสเยี่ยม ภูเขาสูงเทียมฟ้า

ดอกไม้พันธุ์นานา บรรยากาศสวิสเซอร์แลนด์” นอกจากนั้นพื้นที่ อ.สะเมิง ถือเป็นถิ่นที่อยู่ของคนไตลื้อกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะบ้านแม่สาบเหนือ ตำนานในธรรมคัมภีร์วัดแม่สาบ ระบุว่า ปี พ.ศ.2302 มีคนเมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่สะเมิงใต้ครั้งแรกประมาณ 10 คน ได้แก่ นายเถิ้ม นายปัญญา นายตาปม นายหนานนิน นายตามน นายอ้าย นายไชยา นายโกระใบและนายฟอง ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านท่าศาลา ต่อมาภายหลังทั้ง 10 คนได้แยกกันไปตั้งหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตสะเมิงใต้ โดยนายเถิ้มได้รับการแต่งตั้งจากพญาราชให้เป็นหัวหน้าปกครองอยู่ที่บ้านแม่สาบ

ต่อมาปี พ.ศ.2350 พ่อเฒ่าคุ่น หัวหน้าชาวไตลื้อบ้านสา จากเมืองสิบสองปันนาได้ชักชวนชาวไตลื้ออพยพเข้ามาอาศัยที่บ้านแม่สาบ ตั้งแต่นั้นมาบ้านแม่สาบจึงกลายเป็นชุมชนไตลื้อที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอสะเมิงชาวไตลื้อมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านไตลื้อคือจะมีบ่อน้ำไว้ประจำแต่ละบ้านนอกจากนั้นก็ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย โดยปกติแล้วชาวไตลื้อจะประกอบอาชีพทำไร่นา หลัง
จากหมดสิ้นฤดูทำนาแล้วผู้หญิงไตลื้อก็จะพากันจับกลุ่มทอผ้าซึ่งผ้าทอไตลื้อนั้นถือว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงามไม่แพ้ผ้าทอจากที่อื่น

การแต่งกายของชาวไตลื้อนั้นดูเหมือนจะเลือนหายไปจากสังคมปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากงานเทศกาลสำคัญ ๆ เท่านั้นที่เราจะเห็นชาวไตลื้อ พากันแต่งกายในชุดไตลื้อ หรือในช่วงวันสำคัญทางศาสนาของพวกเขา ผู้ชายไตลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงม่อฮ่อมขายาวโพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือชมพู ส่วนหญิงไตลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่จะสะพายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นลื้อ สะพายกระเป๋าย่ามและนิยมโพกศรีษะด้วยผ้าขาวหรือชมพู

การแวะเวียนไปเยี่ยมพี่น้องคนไตลื้อที่บ้านแม่สาบ ทำให้เราได้พบพี่ชายพี่สาวชาวไตลื้อหลายคน ที่ออกปากเชื้อเชิญให้ไปเที่ยวบ้าน น้ำใจไมตรีเช่นนี้แม้จะหาแทบไม่ได้ในสังคมเมืองกรุง แต่ยังพบได้ในสังคม “ไต” แท้ที่สงบงามอย่างชุมชนไตลื้อแห่งบ้านแม่สาบ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น