จังหวัดแม่ฮ่องสอน แห่จองพาราในงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด รับเสด็จพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของชาวไทใหญ่

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน, นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน นำส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนจากชุมชนในเขตและนอกเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จัดริ้วขบวนจาก 11 ชุมชน กว่า 1,000 คน แห่จองพาราหรือปราสาทพระ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชารับเสด็จสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากสวรรค์ชั้นดาวดึงเสด็จลงมาโปรดมนุษย์ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในช่วงเทศกาลออกพรรษา จากบริเวณหน้าศาลากลางไปตามถนนขุนลุมประพาสไปสิ้นสุดที่สี่แยกไฟแดงกลางเมืองถนนสิงหนาทบำรุง โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมายืนรอชมและร่วมสาธุขบวนจองพาราตลอดสองข้างทางกว่า 2 กม.
สำหรับ จองพารา หรือปราสาทพระ ในงานเทศกาลปอยเหลินสิบเอ็ดเป็นงานประเพณีออกพรรษา ตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนถึงวันงานจะมีการจัดทำจองพารา หรือปราสาทพระจำลอง (จองพาราขนาดเล็ก) ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่างๆ หน่อกล้วย อ้อย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ตกแห่งอย่างสวยงาม เพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และลงมาโปรดมนุษย์โลก โดยนำจองพาราเล็กไปตั้งไว้ริมระเบียงบ้านเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า
จากนั้น แต่ละชุมชนก็ได้ร่วมกันจัดสร้างจองพาราจำลองขนาดใหญ่ขึ้น (หรือปราสาทพระ) ทำด้วยโครงสร้างไม้ไผ่ แล้วบุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีลวดลาย เจากระดาษสี กระดาษเงิน กระดาษทอง จองยอด หรือ “ผาสาด” (ปราสาท) เป็นจองพารา ขนาดใหญ่ความสูงตั้งแต่ 3.50 เมตรขึ้นไป มียอดปราสาท 5 ชั้น และ 7 ชั้น ประดับประดาตกแต่งติดประทีปโคมไฟ นำพระพุทธรูปขนาดเล็กไปตั้งประดิษฐานภายในปราสาทนำพืชผักไม้ผล ฝักแฟง แตงกวา กล้วย อ้อย ข้าวตอกดอกไม้ใส่ไว้ในจองพารา พร้อมกันนี้ชายหญิงผู้เฒ่าผู้แก่หนุ่มสาววัยรุ่น ก็จะพากันแต่งชุดไทยใหญ่หรือชุดไตร่วมขบวนแห่จองพาราอย่างสวยงาม ปีนี้มีชาวไทยใหญ่จากชุมชนต่างๆ นำจองพาราเข้าร่วมขบวนแห่ถึง 11 ขบวน
มีการละเล่น ฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานของชาวบ้าน ในแต่ละชุมชน เช่น รำนก รำกิ่งกะหล่า ก้าโต ฟ้อนรูปจำลองสัตว์ป่าหิมพานจากสวรรค์แห่ไปตามถนนในเขตเทศบาล เพื่อนำจองพาราหรือปราสาทพระไปตั้งประดิษฐานไว้ที่วัดของตนเองในแต่ละชุมชน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชารับเสด็จพระพุทธเจ้าจากสวรรค์ชั้นดาวดึงลงมาโปรดมนุษย์ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้การแห่จองพารายังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยได้รับความสนใจจากนักเที่ยวยืนรอสาธุสองข้าทาง กับขบวนแห่จองพาราเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าผู้ที่ได้ร่วมขบวนแห่และร่วมยืนสาธุจะได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่
สำหรับงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมเป็นต้นมา และ วันที่ 13 ต.ค. 62 ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็จะร่วมกันตักบาตรเทโวโรหณะ ณ วัดพระธาตุดอยกองมู ส่วนวันที่ 21 ต.ค. 62 จะเป็นวันก๋อยจ๊อด แห่เทียนพันเล่มหรือแห่ต้นเกี๊ยะ ปิดเทศกาลออกพรรษา ตามประเพณี

ร่วมแสดงความคิดเห็น