กว่าจะเป็น “กว๊านพะเยา”

บึงน้ำขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าหรือที่เรารับรู้ในชื่อว่า “กว๊านพะเยา” หรือที่คนพะเยาในอดีตเรียกขานกันว่า “หนองเอื้ยง” นับเป็นแหล่งน้ำที่มีประวัติศาสตร์และความสำคัญยิ่งของผืนแผ่นดินล้านนา ด้วยว่าเป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อันดับสองของ ประเทศรองจากบึงบอระเพ็ดของจังหวัดนครสวรรค์ หลังปี พ.ศ. 2478 สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาได้สร้างทำนบกั้นแม่น้ำอิงขึ้น สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นพื้นที่กว้างขวางซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ถึง 18.22 ตารางกิโลเมตรหรือ 12,831 ไร่ และนับเป็นเวลานานนับหลายสิบปีที่พี่น้อง ชาวพะเยาได้อาศัยน้ำจากแหล่งนี้หล่อเลี้ยงดำรงชีวิตมาจนปัจจุบัน
กว๊านพะเยาดูเหมือนไม่ต่างอะไรกับท้องทะเลกว้าง ด้วยริ้วคลื่นในฤดูฝนที่สายลมพัดพลิ้วเป็นระลอกใหญ่ ขณะที่ในฤดูหนาวกลับเรียบสงบสลัวรางอยู่ในม่านหมอก ดูประหนึ่งผืนน้ำกับขอบผ้าเบื้องบนได้เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน ผืนน้ำกว้างไกลตัดกับขอบฟ้าใสสีน้ำเงิน ไกลออกไปมีทิวเทือกดอยสีเขียวหม่นทอดตัวยาวเป็นฉากหลัง เทือกดอยที่สูงใหญ่ที่สุด นั่นคือเทือกดอยหลวง นอกจากนั้นยังมีดอยขุนแม่สุก ดอยขุนแม่ต๋ำ ดอยชี ดอยกิ่วแก้วและดอยร่อง อันเป็นต้นธารขุนน้ำใหญ่ที่ก่อกำเนิดสายธารหลายสายไหลลงมาสู่แอ่งกว๊าน อันเป็นที่มาของชื่อ “แอ่งแม่อิง”
คำว่า “กว๊าน” ในชื่อ “กว๊าน” หมายถึงหนองน้ำหรือบึงน้ำขนาดใหญ่ คำนี้มีใช้ในท้องถิ่นล้านนาเฉพาะที่จังหวัดพะเยาเท่านั้น หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิเวที เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ มีความเห็นว่าคำว่า “กว๊านพะเยา” นั้นควรจะใช้คำว่า “กว้าน” แทนเพราะหมายถึง การกว้านเอาน้ำจากห้วยหนอง คลอง บึงและแม่น้ำลำธารต่าง ๆ ในท้องที่ดังกล่าวมารวมเอาไว้ในที่เดียว ซึ่งกว๊านพะเยาแห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ชาวพะเยารับรู้กันเป็นอย่างดีว่า กว๊านพะเยาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอาศัยที่ชุกชุมของปลาน้ำจืดนานาชนิด ด้วยสภาพของกว๊านที่เป็นแหล่งอาศัย ตามธรรมชาติที่ดียิ่งของหมู่ปลาน้ำจืด เพราะในบริเวณกว๊านพะเยา มีสายน้ำหลากหลายสายไหลมาเชื่อมต่อกัน 
นอกจากนั้น ในส่วนที่เป็นผืนน้ำกว้างยังมีพงหญ้า กอบัว สาหร่ายและพืชน้ำขึ้นอยู่ในบริเวณอันเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของปลา อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากสถานีประมงในการนำพันธุ์ชนิดต่างๆมาปล่อยลงสู่กว๊านอยู่เสมอ ปลานานาพันธุ์จึงสามารถมีชีวิตเริงรื่นและดำรงพันธุ์อยู่ใน ผืนน้ำกว้างแห่งนี้ได้
กว๊านพะเยายังเป็นแหล่งทำมาหากินร่วมกันของชาวบ้านใกล้เคียง นอกจากการทำประมงพื้นบ้านอย่างง่ายด้วยเครื่องมือและวิธีการที่ถูกกฏหมายแล้ว ชาวบ้านยังลอยเรือเก็บผักตบชวา สาหร่าย นำไปผสมอาหารเพื่อเลี้ยงหมูกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพิ่มพูนรายได้อีก
ทางหนึ่งด้วย ผืนน้ำที่กว้างใหญ่ตัดกับท้องฟ้าครามยามฤดูหนาว ไกลออกไปมีทิวเขาแดนดอยสีเขียวหม่นทอดยาวเป็นฉากหลัง เทือกดอยที่สูงใหญ่ทะมึนนี้คือเทือกของดอยหลวง ซึ่งเป็นต้นธารขุนน้ำที่ก่อกำเนิดสายน้ำไหลลงจากดอยสู่กว๊านพะเยา นอกจากนั้นยังมีดอยขุนแม่สุก ดอยขุนแม่ต๋ำ ดอยชี ดอยขุนนะ ดอยกิ่งแก้วและดอยร่อง ซึ่งเป็นเทือกเขาที่โอบล้อมทุ่งราบของเมืองพะเยาและยังเป็นต้นธารน้อยใหญ่ที่รินไหลลงมาเสริมเติมชีวิตชีวาให้กับกว๊านพะเยาอยู่เนืองนิจ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่คอยเติมแต่งความเคลื่อนไหวและเรื่องราวให้กับผืนน้ำด้วยเรือพายลำเล็ก ๆ กับการดักข่ายวางเบ็ดหรือลอยลำทอดแหอยู่ริมน้ำดูเหมือนจะเป็นสีสันของกว๊านพะเยาอยู่เสมอ ชาวพะเยารับรู้กันว่า กว๊านพะเยาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งอาศัยที่ ชุกชุมของปลาน้ำจืดนานาชนิด ด้วยสภาพของกว๊านเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติที่ดียิ่งของหมู่ปลา เพราะน้ำในกว๊านพะเยานั้นไหลลงมาจากธารน้ำหลายที่และยังมีสภาพของพื้นที่หลากหลาย เช่น ส่วนที่เป็นผืนน้ำกว้าง ส่วนที่เป็นพงหญ้า กอบัวและพืชน้ำที่ขึ้นอยู่ชายกว๊าน
อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมเพาะเลี้ยงจากสถานีประมงริมกว๊าน จึงทำให้กว๊านพะเยากลายเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อาศัยของปลาจำนวนมาก สำหรับคนเดินทางที่ชื่นชอบการลิ้มรสอาหารประเภทปลาแล้ว ร้านอาหารริมกว๊านพะเยาหลายแห่งก็มีเมนูอาหารประเภทปลาขึ้นชื่ออยู่มากมายด้วยกัน โดยเฉพาะปลานิลจากกว๊านพะเยาทอดกระเทียมพริกไทย ปลาเนื้ออ่อนทอด ก็มีให้เลือกลิ้มชิมรส ทุก ๆ วันตอนเย็น
บริเวณริมกว๊านพะเยาแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่นัดพบและพักผ่อนของชาวเมืองพะเยา บางคนก็นั่งจับกลุ่มรับประทานอาหารอยู่ริมกว๊าน บางคนที่พาครอบครัวออกมานั่งตกปลา บางคนก็มาวิ่งออกกำลังกาย วิถีชีวิตเหล่านี้ยังคงพบเห็นได้เสมอเมื่อยามที่เดินทางมาเยือนกว๊านพะเยา
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น