สัญญาณเตือนและแนวทางปฏิบัติ ลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อัมพาต หรือ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดหล่อเลี้ยง ทำให้มีอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “หลอดเลือดสมองตีบหรือตัน และหลอดเลือดสมองแตก”
จากรายงานขององค์การอัมพาตโลก (WSO) พบว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก พบผู้ป่วยจำนวน 80 ล้านคน ผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 13.7 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในประชากรโลกปี 2562 พบว่า ทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรโลก ที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้
สำหรับประเทศไทย จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2559 พบผู้ป่วย 293,463 ราย ในปี 2560 พบผู้ป่วย 304,807 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ปีละประมาณ 30,000 ราย จากสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งสามารถเกิดได้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง จึงได้กำหนดคำขวัญการรณรงค์วันอัมพาตโลกในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 คือ “อย่าให้ อัมพฤกษ์ อัมพาต…เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ” เพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันโรคดังกล่าว และรู้ถึงสัญญาณเตือนของโรค คือ “F.A.S.T” 
F (Face) เวลายิ้มแล้วพบว่ามุมปากข้างหนึ่งตก
A (Arms) ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น
S (Speech) มีปัญหาด้านการพูด แม้แต่ประโยคง่ายๆ
และ T (Time) เวลามีอาการเหล่านี้ ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วนภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง รวมการรักษา
เพื่อจะได้รับการรักษาให้ทันเวลา และสามารถฟื้นฟูให้กลับมาได้เป็นปกติมากที่สุด หรือโทรสายด่วน 1669 ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง สามารถป้องกันได้ โดยประชาชนทุกคนต้องเรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดโรค และปฏิบัติตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้
  1. เลิกสูบบุหรี่
  2. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ควรดูแลรักษาสุขภาพตามที่แพทย์แนะนำ ควรรับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษา
  4. ควบคุมน้ำหนักตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์
  5. ออกกำลังกายวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  6. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย มีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม
  7. ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก ผลไม้
และ 8. ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ที่มา : กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, komchadluek

ภาพ : samitivejhospitals

ร่วมแสดงความคิดเห็น