กรมการแพทย์ เตือน! ผู้ที่มีภาวะไขมันสะสมมากกว่าปกติ เสี่ยงเกิดโรคหอบหืด 

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะที่มีไขมันสะสมมากผิดปกติหรือมากเกินกว่าที่ร่างกาย จะเผาผลาญออกไปได้ ส่งผลให้พุงยื่นออกมาอย่างชัดเจน เรียกว่า โรคอ้วนลงพุง ซึ่งผลแทรกซ้อนของ โรคดังกล่าว อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา คือ เสี่ยงกับภาวะไขมันอุดตันหลอดเลือดและหัวใจ นอกจากนี้ไขมันส่วนเกินยังสามารถเข้าไปสะสมในปอด จนเบียดทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมตีบลง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหอบหืดได้
โดยผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงโรคอ้วนลงพุงจะมีลักษณะต่างๆ อย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้ คือ
1. ภาวะอ้วนลงพุง
2. ความดันโลหิตสูง 130/85 มม.ปรอทขึ้นไป
3. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่า 100 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตรขึ้นไป
4. ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
5. มีไขมันดี ชนิด HDL ต่ำ โดยเพศชายน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และเพศหญิงน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
หากพบว่าร่างกายมีลักษณะดังกล่าว ต้องรีบหาแนวทางการรักษาและป้องกันโรคอ้วนลงพุง  เพื่อห่างไกลโรคร้ายแทรกซ้อนที่จะตามมาอย่างทันท่วงที
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า  โรคอ้วนลงพุง เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม ทำให้มีอาการโรคหอบหืดตามมา อาการในผู้ป่วยโรคหอบหืดมักจะเหนื่อยหอบเวลาออกแรง ไอ เสมหะเหนียวข้น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือมีอาการในช่วงกลางคืน
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ไขมันสามารถเข้าไปสะสมที่ผนังทางเดินหายใจ และส่งผลให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยวารสาร European Respiratory ได้ตีพิมพ์เรื่องผลงานวิจัย ที่ค้นคว้าร่วมกับ  Peter Noble ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Western Australia ที่ค้นพบว่าการสะสมของไขมันสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของผนังทางเดินหายใจ ในลักษณะของการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหอบได้ง่ายมากขึ้น โดยทีมนักวิจัยจะทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม  เพื่อหาความสัมพันธ์ในเรื่องของการลดน้ำหนัก เพื่อลดอาการหอบ และการเกิดโรคหอบจากเนื้อเยื่อไขมันให้แน่ชัดอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการกินของเราที่มากเกินไป  อาจส่งผลให้สุขภาพของเรานั้นแย่ลง สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงอ้วนลงพุง สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้ด้วยการคุมอาหารและลดน้ำหนัก ในรายที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ไม่ให้บริโภคมากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด มัน กะทิ น้ำหวาน และน้ำอัดลม และควรดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรคร้ายที่แทรกซ้อนตามมา
ที่มา : กรมการแพทย์, livescience,

ภาพ : คลินิกเบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ

ร่วมแสดงความคิดเห็น