สสจ.เชียงใหม่ กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันอัมพาตโลก”

นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization : WSO) กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 80 ล้านคน และพิการจากโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 50 ล้านคน ประกอบกับรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชาชนไทย พ.ศ.2557 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของประชากรทั้งในเพศชาย-เพศหญิง (ชาย 30,402 ราย, หญิง 31,044 ราย) และเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควร เป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 1 ในเพศหญิงสำหรับ จ.เชียงใหม่ พบอัตราป่วยตายโรคหลอดเลือดสมอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2560 – 2562 พบอัตราป่วยตายร้อยละ 5.89 , 6.33 และ 7.10 ตามลำดับ จากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโรคหลอดเลือดสมอง เป็นภัยที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลก รวมถึงประชากรใน จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นโรคที่สามารถ เกิดได้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ผู้ที่ป่วยจากโรคนี้จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ผู้ป่วยบางรายเกิดความพิการ โดยจะเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก มาจากอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองตายในที่สุด ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด ปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลกนอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ออกกำลังกาย นอนไม่เพียงพอ บริโภคอาหารไม่เหมาะสม ไขมันในเลือดสูง ดัชนีมวลกายและรอบเอวเกิน สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และรวมถึงปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. หยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่
2. หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ควรดูแลรักษา สุขภาพตามที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ รับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตามแผนการรักษา
4. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ระหว่าง 18.5 – 25 กิโลกรัม/ ตารางเมตร คุมรอบเอวในเพศชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร และเพศหญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร
5. ดำเนินวิถีชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง และควรออกกำลังกายอย่างน้อยที่สุด 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์
6. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย มีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม
7. รับประทานเมนูอาหารสุขภาพ เช่น รับประทานผักสดมื้อละ 2 ฝ่ามือพูนหรือผักสุกมื้อละ 1 ฝ่ามือพูน เป็นต้น
8. ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น