แผนเวนคืนที่ มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงรายล่าช้า ทุนจีนสนใจร่วมสร้าง

คณะกรรมการหอการค้า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า คณะทำงานติดตามโครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงรายได้ลงพื้นที่บริเวณบ่อเต็น-บ่อหาน จุดที่ก่อสร้างสถานีรถไฟตามโครงการวันเบลต์วันโรดด์ หรือเส้นทางสายไหมสายใหม่ของจีนที่จะเชื่อมโยงแต่ละประเทศในอาเซียนและทั่วโลก จุดนี้คาดว่าปี 2564 น่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่จีนกำหนดไว้ เส้นทางสายนี้จะมาบรรจุบเชื่อมต่อถนนทล.ที่ด่านเชียงของ เชียงราย ที่สร้างเสร็จแล้ว แต่มอเตอร์เวย์เชียงราย – เชียงใหม่ ซึ่งกรมทางหลวง ดูแลรับผิดชอบนั้น ตามแผนในปีนี้กระบวนการต้องอยู่ที่การเวนคืนที่ดิน ในสายทางที่จะสร้าง ยังไม่คืบหน้า
ในการประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่1 ครั้งที่3/62 ตัวแทนสำนักทางหลวงที่ 1 ได้ชี้แจงรายละเอียด สรุปว่าโครงการบรรจุในแผนแม่บท การพัฒนาทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองระยะ 20 ปีของกรมทางหลวง ตามแผนปี 66 จึงจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขั้นตอนแผนการเวนคืน จะเริ่มในปี 62 ซึ่งตัวแทนกรมทางหลวง ยืนยันว่า ช่วงเวลาที่กำหนด เป็นเอกชนที่กรมฯจ้างเป็นที่ปรึกษา นำเสนอ ช่วง 2567-70 จึงจะดำเนินการก่อสร้างได้ ที่ผ่านๆมากรมฯได้พิจารณาดำเนินการช่วงที่มีปริมาณยานพาหนะหนาแน่นทั้งจากเชียงใหม่ -เวียงป่าเป้า เป็น 4 ชองจราจร และจาก อ.เวียงป่าเป้า – อ.แม่ลาว จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดสายทาง ในระยะ 2-3 ปี อย่างต่อเนื่อง
ด้านหอการค้ากลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เสนอที่ประชุมว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีเอกสารยืนยัน ว่าบรรจุในแผนแม่บทตามที่ชี้แจงในที่ประชุม สืบเนื่องจากการประชุมสัมมนา กกร. มีเจ้าหน้าที่ระบุว่า มีการนำออกจากแผนไป เพราะผลศึกษาไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของทีมข่าว พบว่า ช่วงปี 61ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ในพื้นที่ จ.พะเยา และเชียงราย (ช่วง 29-30 ต.ค. 61) กรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งมีนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นอธิบดี ในขณะนั้นระบุว่าจะเสนอแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ สายเชียงใหม่ – เชียงราย (ทล.หมายเลข5) ระยะทางกว่า 184 กม. ซึ่งผลศึกษาด้านวิศวกรรมการจราจรและขนส่ง , ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ดำเนินการเรียบร้อย
โดยว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บ. เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จก. , บ. วี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จก. และบ. พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จก. ใช้เวลา 18 เดือนศึกษา งบค่าจ้างกว่า 30 ล้านบาท บริษัทที่ปรึกษาได้กำหนดสมมติฐานปีเป้าหมาย ให้ปี 2568 เป็นปีเริ่มบริการ ค่าดำเนินงานมี 3 ส่วนหลัก ๆ คือค่าออกแบบและก่อสร้าง 88,661.49 ล้านบาท , ค่าเวนคืนที่ดิน 12,007 ไร่ และเงินชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 819 หลัง กว่า 2,567.46 ล้านบาท , ค่าบำรุงรักษาและบริหารโครงการ 10,021 ล้านบาท รวมทั้งหมด 101,222.21 ล้านบาท โครงการผ่านเกณฑ์ดัชนีชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจ มีอัตราผลตอบแทนสูงถึง12.61% รูปแบบการลงทุน วางไว้ 3 รูปแบบคือ 1.รัฐลงทุนทั้งหมด 2.รัฐร่วมทุนกับเอกชน และ 3.เอกชนลงทุนทั้งหมด สายทางจะเป็นถนนตัดใหม่ กว้างราว ๆ 70 ม.ขนาด 4 – 6 ช่องจราจร เริ่มต้นที่เมืองเชียงใหม่ ผ่าน อ.ดอยสะเก็ด อ.แม่ออน เข้า อ.เมืองปาน อ.แจ้ห่ม อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เข้า อ.เมืองพะเยาและ อ.แม่ใจ เข้า อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย สิ้นสุดที่ตัวเมืองเชียงราย
มีพื้นที่เวนคืน 12,000 ไร่ บ้านเรือนกว่า 900 หลังต้องชดเชย โครงการจะมีทั้งระดับพื้นดิน 128.28 กม. และยกระดับ 32.88 กม. ทางลอด อุโมงค์ 22.25 กม. ช่วงข้ามอุทยานแจ้ซ้อน-ดอยหลวง มีทางเข้าออก 6 จุดเชื่อมถนนสายหลักและสายรอง มีสถานีบริการ 3 แห่ง บริเวณ กม.19+275 , กม.71+000 และ กม.165+500 ศูนย์บริการทางหลวง ที่กม.125+200 งบเบื้องต้น 101,174 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างปี 63-64  แล้วเสร็จปี 67-68 จะย่นระยะเวลา เชียงใหม่ถึงเชียงรายไม่เกิน 2 ชม. จากเดิม 3 ชม.เป็นอีกเครือข่ายสายทางที่จะเชื่อมเส้นทางสายไหมสายใหม่ของจีนได้ และกลุ่มทุนจีนหลายกลุ่ม สนใจร่วมลงทุนในขณะนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น