“รถถีบ” เครื่องแสดงฐานะของคนเชียงใหม่ในอดีต

เมืองเชียงใหม่เมื่อราว 70 – 80 ปีที่แล้ว ยังเป็นเมืองเล็ก ๆ บ้านเรือนยังเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ชาวบ้านมักจะอาศัยการเดินเท้าหรือใช้เกวียนในการขนส่งสินค้า เมื่อเมืองเชียงใหม่มีความเจริญมากขึ้นมีการค้าขายกับเมืองต่าง ๆ จึงรับเอาความเจริญของที่อื่นเข้ามา โดยเฉพาะการค้ามีส่วนสำคัญทำให้เชียงใหม่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้มีอิทธิพลทางการค้า อินเดียและพม่าตกเป็นเมืองอาณานิคม นักธุรกิจชาวอังกฤษมุ่งหน้าสู่ล้านนาด้วยธุรกิจป่าไม้ เหมืองแร่และใบยาสูบ การค้าขายในล้านนาเวลานั้น ใช้เงินรูปีของอินเดียและพม่าเป็นหลัก ชาวล้านนาเรียกว่า “เงินแถบ”
เมื่อการค้าคึกคักและชาวเมืองมั่งคั่ง รถถีบจึงเป็นพาหนะสำคัญทั้งในด้านความจำเป็นและการแสดงฐานะ ในสมัยนั้นใครที่มีรถถีบ ถือได้ว่ามีความโก้เก๋ หลังจากการเข้ามาของรถจักรยาน หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า “รถถีบ” ไม่นานท้องถนนของเชียงใหม่จากที่เคยมีขบวนเกวียน ผู้คนก็เปลี่ยนมาใช้รถถีบมากขึ้น หลังปี พ.ศ.2510 เมื่อทางราชการประกาศห้ามนำเกวียนเข้ามาในเมืองอีก รถถีบจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น จักรยานที่เข้ามาจำหน่ายในเมืองเชียงใหม่มีมากมายหลายยี่ห้อ แต่คนเชียงใหม่กลับให้ความเชื่อถือรถจักรยานอยู่เพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นคือ ฮัมเบอร์ (Humber) และ ราเล่ย์ (Raleigh) ประมาณ ปี พ.ศ.2495 รถฮัมเบอร์และราเล่ย์ ราคาคันละ 1,400 บาท
รถถีบเข้ามาสู่เชียงใหม่โดยสองทางด้วยกันคือ บรรทุกรถไฟจากกรุงเทพฯสู่ปากน้ำโพแล้วถ่ายลงเรือทวนแม่น้ำปิงขึ้นมา ส่วนอีกทางมาจากอินเดีย บรรทุกเรือสู่อ่าวมะตะบันผ่านเมืองมะละแหม่งเข้าสู่ล้านนาทางบกด้วยขบวนวัวหรือม้าต่าง ด้วยวิธีการนี้ รถถีบบางยี่ห้อ ซึ่งไม่พบในกรุงเทพและภาคกลาง จึงกลับมาดาษดื่นในภาคเหนือ ทั้งลำพูน ลำปางและแพร่ ในเวลาต่อมา เมื่อรถไฟลอดอุโมงค์ขุนตานสำเร็จ รวมทั้งอิทธิพลของอังกฤษในล้านนาลดลง การขนส่งทางรถไฟจึงทวีความสำคัญขึ้น ห้างร้านในเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นตัวแทน
เอเยนต์จำหน่ายให้กับผู้แทนการค้าในกรุงเทพฯ ห้างร้านสำคัญ ๆ ที่ยังยืนยงมาจนถึงปัจจุบันอย่างนิยมพานิชและตันตราภัณฑ์ รวมทั้งเลิกกิจการไปแล้วอย่าง เลี่ยวชุนหลี ล้วนต่างเป็นตัวแทนจำหน่ายรายสำคัญในยุคนั้นทั้งสิ้น น่าเสียดายว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อรถถีบรุ่นคลาสสิคเหล่านี้คืนสู่ความสนใจของผู้คนอีกครั้ง รถถีบในเชียงใหม่ถูกกว้านซื้อไปจำหน่ายต่อในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ปริมาณรถถีบลดลงเท่านั้น ยังส่งผลเสียต่อการสืบค้น ทางประวัติศาสตร์เพื่อความรู้เกี่ยวกับรถถีบในเชียงใหม่ บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น