กรมทางหลวง ยืนยัน ก.คมนาคม ไม่ได้สั่งรื้อเกาะกลางทำแบริเออร์ ให้เริ่มกับโครงการใหม่

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวประเด็น “ทล.-ทช. งานเข้ารื้อแบบสร้างทางใหม่ หวั่นผู้ใช้ถนนอันตราย” โดยมีเนื้อหาว่า กรมทางหลวง( ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะดำเนินการรื้อเกาะกลาง เพื่อใช้แบริเออร์แปะแผ่นยางพารา (Rubber Fender barrier) นั้น กรมทางหลวง ขอชี้แจงว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
ไม่ได้มีนโยบายให้ทุบรื้อเกาะกลางเดิม ที่เป็นแบบเกาะยก เพื่อทำใหม่เป็นแบริเออร์ แต่ได้สั่งการให้ดำเนินการในโครงการก่อสร้างใหม่ หรือปรับปรุงเกาะสีที่มีอยู่เดิมเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาถนนที่เป็นเกาะสี จะเกิดอุบัติเหตุรถวิ่งข้ามเลนสวนกัน ชนประสานงารุนแรงบ่อยครั้ง และมีผู้เสียชีวิต กรมทางหลวงจะดำเนินการนำแท่ง Rubber Fender Barrier มาวางเฉพาะพื้นที่เกาะกลางถนนที่เป็นเกาะสี เพื่อป้องกัน และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นบนถนนทางหลวงนอกจากนี้ ถนนที่จะออกแบบใหม่ ในปีงบประมาณ 2563 ขนาด 4 ช่องจราจร และ 6 ช่องจราจร จะมีการออกแบบระบบ Rubber Fender Barrier เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเช่นกัน เพราะจากผลการวิจัยพบว่า การใช้แท่ง Concrete Barriers โดยมีแผ่นยางกันกระแทกคลุมแท่งคอนกรีต จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุลงได้ ไม่น้อยกว่า 30% อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้แบริเออร์แทนการปรับปรุงเป็นเกาะยก เพราะมีราคาถูกกว่า ทำได้เร็ว ปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง และไม่เกิดการวิ่งข้ามเลนมาชน
รูปแบบเกาะกลางที่ กรมทางหลวงจะเลือกใช้กับถนนของกรมทางหลวง จะใช้เป็นเกาะกลางแบบแบริเออร์เป็นหลัก ซึ่งนิยมใช้กับทางหลวงที่มีความกว้างเขตทางแคบ และเป็นรูปแบบฉนวนกั้นที่ดีที่สุดด้านความปลอดภัย โดยออกแบบให้มีระยะปลอดภัยด้านข้าง (Lateral Clearance) ระหว่างช่องจราจรกับเกาะกลาง
นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าการใช้เกาะกลางแบบแบริเออร์ เป็นรูปแบบที่มีข้อได้เปรียบด้านความปลอดภัย รองรับความเร็วได้สูงกว่า ค่าก่อสร้างไม่สูง มีความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างมากกว่า จัดการจราจรได้ดี ใช้เวลาก่อสร้างน้อย เมื่อเทียบกับเกาะยกปลูกหญ้า อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงน้อย ทำให้ช่วยประหยัดเงินค่าก่อสร้างเกาะกลาง และลดค่าบำรุงรักษาเกาะกลางในการตัดหญ้า และรดน้ำต้นไม้

ร่วมแสดงความคิดเห็น