พิธี “ล่องสะเปา” เพื่ออะไร ? ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง

วันนี้ทีมเชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ ขอนำบทความเรื่อง “ล่องสะเปา”​ ซึ่งเป็นพิธีที่ทำ ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง นำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งบทความนี้ เป็นบทความของ อ.สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำว่า “สะเปา” สะกดตามเสียงสำเนียงล้านนา หากจะให้ถูกต้องตามหลักการปริวรรตต้องสะกดเป็น “สะเพา” หมายถึงเรือ “ล่องสะเปา” คือ ปล่อยเรือไหลล่องลงตามน้ำเชิงพิธีกรรม โดยเฉพาะการบรรจุสิ่งของอันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงในสะเปาหรือเรือ แล้วนำไปถวายทานแด่พระสงฆ์เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย อุทิศไว้เสวยในชาติหน้า ปล่อยเคราะห์ลอยนาม และบริจาคเป็นทานในช่วงเทศกาล “ยี่เป็ง”
การอุทิศให้ผู้ตาย เป็นการทำบุญครั้งใหญ่ หลังจากที่ได้ทำบุญให้ในช่วงบำเพ็ญกุศลศพไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ประสงค์จะทำบุญอุทิศกุศลส่งตามไปให้อีกด้วยสิ่งของต่าง ๆ ที่มีความสมบูรณ์สำหรับนำไปใช้สอยในภพหน้า โดยทั่วไปมักทำเป็นรูปเรือบรรจุสิ่งของ
กรณีอุทิศไว้เสวยในชาติหน้า จะสรรหาสิ่งของที่คิดว่าตนเองจะต้องใช้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์บรรจุลงในเรือจำลองพร้อมติดชื่อไว้ให้เป็นที่จำหมาย สำหรับการจัดทำเพื่อปล่อยเคราะห์ลอยนาม อาจอยู่ในลักษณะคล้ายคลึงกันในด้านรูปแบบของสิ่งของ เพียงแต่เพิ่ม “สะตวง” คือกระบะบัตรพลีที่ทำด้วยกาบกล้วย เพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยพระเคราะห์ และตามด้วยพิธีสะเดาะเคราะห์ในตอนท้าย
ส่วนกรณีสุดท้าย อาจเป็นความตั้งใจบริจาคให้เป็นทานโดยตรง หรือเป็นผลพ่วงไปกับการทำบุญอุทิศไม่ว่าจะอุทิศให้ผู้ตาย อุทิศให้ตนเอง หรือลอยเคราะห์ คือหลังพิธีทำบุญแล้ว ก็ส่งมอบให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประสงค์จะขอรับ ซึ่งบางท้องถิ่นอาจมีกรรมการวัดช่วยพิจารณาว่าจะมอบประโยชน์ให้แก่ผู้ยากไร้คนไหนในหมู่บ้าน หรือบางแห่งก็ปล่อยลอยน้ำไหลไปโดยมิได้เจาะจง
กล่าวถึงพิธีกรรมเชิงปฏิบัติ สมัยโบราณอาจไม่มีพิธีสงฆ์ คงอธิษฐานแล้วล่องลอยไปกับสายคงคา แต่เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาจึงต้องผ่านขั้นตอนของกระบวนการในการทำบุญอุทิศตามคติของพระพุทธศาสนา และที่ขาดเสียไม่ได้คือประทีปโคมไฟ เพราะไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในพิธีกรรมหรือบนคติความเชื่อใด ก็มักติดไฟประทีปในพิธีเสมอ ทั้งนี้การจุดประทีปบูชาเป็นวิธีปฏิบัติสำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับวิญญาณในภพภูมิอีกมิติหนึ่งอยู่แล้ว
วิธีคิดดังกล่าว ปรากฏในตำนานเดิม อย่างที่ปรากฏในหนังสือ “ตำนานโยนก” ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุญนาค) ปริเฉท 6 จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2469 ว่าด้วยหริภุญไชยนคร หน้า 94-95 ความว่า เมื่อจุลศักราช 309 (พ.ศ. 1490) ในสมัยพระเจ้าจุเลระราช กาลครั้งหนึ่งเกิด “ความไข้” คือโรคระบาดร้ายแรง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้พากันอพยพไปอาศัยอยู่ ณ เมืองสุธรรมาวดี แล้วไปอยู่หงสาวดีนานถึง 6 ปี เมื่อโรคภัยสงบ ผู้คนส่วนหนึ่งพากันกลับสู่หริภุญไชย แต่มีส่วนหนึ่งยังคงปักหลักอยู่ที่หงสาวดี
ชาวหริภุญชัยเมื่อกลับไปอยู่อาศัยบ้านเกิดเมืองนอนแล้วยังระลึกนึกถึงญาติที่อยู่หงสาวดี ดังนั้น ครั้นถึงเพลากำหนดครบปีเดือนที่ได้อพยพเคลื่อนย้าย จึงพากันจัดแต่งเครื่องสักการะไปลอยน้ำส่งไปหาญาติเมืองหงสาวดีโพ้น การลอยเครื่องสักการะดังกล่าวเรียกว่า “ลอยโขมด” เมื่อการลอยโขมดมีการปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องจึงกลายเป็นประเพณีซึ่งอาจถือเป็นต้นแบบของการล่องสะเปาและเป็นต้นเค้าของการลอยกระทงในเวลาต่อมา
ปัจจุบันการล่องสะเปาลงน้ำดูเหมือนจะลดความนิยมลง กระนั้นก็ยังคงมีการทำบุญอุทิศในลักษณะเดียวกัน อาทิ สร้างเรือจำลองบรรจุสิ่งของถวายให้พระสงฆ์อนุโมทนา โดยไม่ได้นำไปลอยน้ำ หรือสร้างเป็นเคหสถานพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคถวายทานที่บางท้องถิ่นเรียก “ปอยข้าวสงฆ์” หรือ “ดาทาน” เป็นต้น ซึ่งการทำบุญลักษณะนี้อาจไม่ตรงกับวันยี่เป็งก็ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการล่องสะเปาน่าจะอยู่ที่ว่า การ “ล่องสะเปา” เป็นการทำบุญให้ทานที่ตรงความหมายกับคำว่า “ให้” มากที่สุด เพราะนอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคในสะเปาจะเป็นกุศลผลบุญตามเจตนาแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ยากไร้ที่อยู่ใกล้สายน้ำ ในแต่ละปีที่ถึงฤดูกาลยี่เป็ง สำหรับท่านที่สนใจบทความและเรื่องราวพิธีกรรมล้านนา ติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก ล้านนาสาระ โดย อ.สนั่น ธรรมธิ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น