อารักษ์หลวง แสงศรัทธาฉายฉานในล้านนา

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เชียงใหม่ บอกเล่าความเป็นพหุสังคมในแผ่นดินล้านนา จากอดีตถึงปัจจุบันความเชื่อ ความศรัทธาเกี่ยวกับเทพอารักษ์ หรือการเซ่นสรวงบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ยังคงคู่ชุมชนท้องถิ่นเฉกเช่นการนับถือนัต ผีอารักษ์ในสังคมพม่า
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายคำว่า อารักษ์ คือการป้องกัน ,คุ้มครอง,ดูแล หากกล่าวถึง “เทวดาผู้พิทักษ์รักษา” มักใช้ว่า เทพารักษ์ หรือ อารักษเทวดา และถ้าเป็นคำนิยามพื้นถิ่นเชียงใหม่ใช้ว่า “อารักษ์หลวง”
เมื่อพระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรืองในแถบอุษาคเนย์ ส่งผลให้บางพื้นที่ ซึ่งก่อเกิดอาณาจักร ได้ผสมผสานรูปแบบความศรัทธา ผ่านพิธีกรรมฝ่ายศาสนจักร ถึงขั้น มีพระบรมราชโองการ ทำลายการเซ่นไหว้ผี สิ่งที่ชาวบ้านกราบไหว้เสมือนการจัดระเบียบสังคม ด้วยหลักคำสอนที่พึ่งพิงศาสนา เช่น การจัดการ”นัต ” หนึ่งในสัญญลักษณ์ อารักษ์ ความเชื่อของชาวพม่าสมัยพระเจ้าอโนรธา พ.ศ. 1587-1620 ยุคที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามาสู่พุกาม เอกสารปริวรรตล้านนา และการสืบค้นหลักฐาน ตำนานเมืองเชียงใหม่ มีรายละเอียดกล่าวถึง อิทธิพลยุคพม่าครองเชียงใหม่ และย้อนอดีตไปไกลถึงปฐมวงศ์กษัตริย์ราชวงศ์มังราย แห่งล้านนา
บริบทความเชื่อของชาวบ้าน ที่พึ่งพิงหลักไสยเวทย์ พร้อมๆกับหลักศาสนา ก็ยังปรากฎการสืบสานพิธีกรรมท้องถิ่นจากอดีตถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ เสื้อบ้าน เสื้อเมือง การบูชาอินทขีล เทพอารักษ์ ประจำเมืองปริทัศน์ เวียงเชียงใหม่ อ้างอิงตำนาน การมีผีเทวดาอารักษ์เมือง 44 ตน โดยมี “เจ้าหลวงคำแดง” เป็นเค้า ซึ่งแปลว่าเป็นใหญ่กว่าอารักษ์ทั้งหลายคำว่า ตน คือ สรรพนามที่ชาวบ้าน สื่อถึง อารักษ์ หากใช้ภาษาเป็นทางการคือคำว่า “องค์” เพราะอารักษ์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอดีตบูรพกษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองเมือง ทั้ง เจ้าหลวงมังราย พระเมืองแก้ว พระยอดติโลกราช เป็นต้น
ตำนานเชียงใหม่ปางเดิมฉบับที่ สมหมาย เปรมจิตต์และคณะ ปริวรรต อธิบายว่ารายชื่อ”อารักษ์เชียงใหม่”นั้น “เจ้าหลวงคำแดง”เป็นประธานผีของเมือง จากนั้นจึงออกนามกษัตริย์ในราชวงศ์มังราย ที่น่าสังเกตคือ กษัตริย์ล้านช้างครองเมืองเชียงใหม่ช่วงสั้นๆก่อนจะกลับไปครองราชย์ที่ล้านช้าง และเจ้านาย ขุนนางที่ครองเชียงใหม่ยุคประเทศราช แทบจะไม่กล่าวถึงในตำนาน อารักษ์หลวง เวียงเชียงใหม่เลยจะมีเพียงชื่อ”องค์คำ” เจ้าล้านช้างหลวงพระบางหนีมาเชียงใหม่ร่วมมือกับชาวพม่าขับไล่เทพสิงห์ ผู้ครองเมืองสมัยนั้นแล้วตั้งตัวเป็นเจ้าครองเชียงใหม่ และจะกล่าวถึง ผีบรรพชนลัวะ มาถึงเจ้าหลวงเชียงใหม่ในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนสิ้นสุดที่”เจ้ามหาเสฏฐี (เจ้าหลวงคำฝั้น)”
กลุ่มอารักษ์หลวง นอกเหนือ เจ้า 44 ตน บางตำนานพื้นถิ่นและประเพณีนิยมในชุมชน ยังสื่อถึงกลุ่มขุนนาง หรือ เรื่องราวด้านวีรกรรม ของกลุ่มวีรบุรุษ มีการสร้างอนุสรณ์สถาน หรือสถานที่กราบไหว้บูชา เล็ก ใหญ่บ้างตามแรงศรัทธา ความยิ่งใหญ่สำหรับ “อารักษ์หลวง กลางเวียงเชียงใหม่ ” หรือ”ศษลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”บริเวณใต้ร่มไม้ใหญ่ ใจกลางนครเชียงใหม่ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเคยเป็นหอคำหลวง ส่วนหนึ่งของวังที่ประดับปฐมกษัตริย์ล้านนา ต่อมาเป็นอาณาบริเวณของผังเรือนจำเชียงใหม่ ที่ย้ายออกไป กำลังมีแผนพัฒนา เป็นสวนสาธารณะกว่า 9 ปี ยังไม่คืบหน้าถึงไหนนั้นด้วยวีรกรรม”เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” ทหารเอกคู่ขวัญเจ้าเมืองฝาง เลื่องลือ ขจรไกล แม้สิ้นไป วิญญาณยังคงสิงสถิต ปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด มีถึง 5 ตำนาน และสถานที่กราบไหว้ ทั้งเชียงใหม่,แม่ฮ่องสอนและลำปาง
โดยทั้ง 3 จังหวัดนั้นจะพิธีกรรม งานบวงสรวง สักการบูชา ที่ลำปางจัดช่วง 20-25 เม.ย. มีการจัดขบวนสักการะยิ่งใหญ่ ที่เชียงใหม่ ราวๆ พฤษภาคม ที่แม่ฮ่องสอนจะประกอบพิธีบวงสรวง สักการะศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ศาลเจ้าพ่อเมืองแข่ เจ้าแก้วเมืองมา อนุสาวรีย์พญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืององค์แรก และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 พร้อมๆกันช่วงต้นกุมภาพันธุ์ของทุกปีรูปแบบการจัดพิธีสักการบูชา อารักษ์หลวง หรือเทพอารักษ์เมือง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนมีพื้นฐานจากความเชื่อว่า
จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ พิธีบวงสรวง แต่ละยุคสมัย อาจแตกต่างกันไป บางช่วงเวลามีพิธีสักการะถวายวิญญาณบรรพบุรุษ มีการเข้าทรง ตามความเชื่อท้องถิ่นร่วมด้วย
ยุคหลังๆมีพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการสักการะบูชา รูปแบบใดต่อ “อารักษ์หลวง”แรงศรัทธาที่ แนบแน่นในจิตวิญญานของชาวบ้าน ยากจะสั่นคลอน ไม่มีคำถาม ไม่มีคำตอบด้วยว่า คนเมืองยุคศิวิไลซ์ จัดพิธีบวงสรวง เซ่นไหว้ เพื่ออะไร ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าที่ฉายฉาน ในแผ่นดินล้านนา ชาวบ้าน ชาวเมืองรับรู้กันดีว่า จารีต ประเพณีเหล่านี้คือสิ่งที่บ่งบอกรากเหง้า ของคนเมือง ในแผ่นดินอันเรืองรอง งดงามจากรุ่นสืบรุ่น..นั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น