“กองมูขุนหอคำไตย” เจดีย์สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่ได้รับการยกย่องว่าทรงมีพระบรมเดชานุภาพขจรขจาย ทรงนำกองทัพเข้าประจัญบานในการรบจนเป็นที่เกรงขามของศัตรู จากเอกสารของชาวตะวันตกได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความเข้มงวดในการปกครองมากที่สุดในประวัติศาสตร์สยาม ทรงสั่งประหารชีวิตผู้คนมากกว่า 50,000 คน ทั้งนี้ยังไม่นับผู้คนที่ล้มตายจากการทำสงครามอีกหลายแสนคน
อาณาจักรอังวะเกือบล่มสลาย หากพระองค์ไม่เสด็จสวรรคตเสียก่อน ขณะเดินทางกรีฑาทัพทหาร 200,000 คนเพื่อเข้ายึดศูนย์กลางอำนาจของพม่าในสมัยนั้น ทว่าประเด็นพื้นที่สวรรคตของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้กลับคลุมเครือไม่ชัดเจน ในบทความเรื่องพื้นที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของชัยยง ไชยศรีในวารสารพิฆเนศวร์ซึ่งจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวถึงการบันทึกสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจากพงศาวดารไทยที่บันทึกมาตั้งแต่สมัยอยุธา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯให้ชำระขึ้นใน พ.ศ.2223 เป็นการบันทึกภายหลังที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว 75 ปี นับว่าเป็นพงศาวดารไทยที่บันทึกใกล้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด
โดยได้บันทึกพื้นที่สวรรคตว่าอยู่ในเมืองหลวง ตำบลทุ่งดอนแก้ว ขณะที่มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า โดยพม่าได้บันทึกพื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรไว้ชัดเจนว่า “…ครั้นลุจุลศักราช 974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ มาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จถึงเมืองแหน แขวงเมืองเชียงใหม่ ทรงประชวรในเร็วพลันก็สวรรคตในที่นั้น”
นอกจากนั้นในตำนานพงศาวดารของพม่าได้กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าอังวะ ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีจึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ โดยได้ชักชวนให้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีสัตนาคนหุตและเมืองเชียงใหม่ยกกองทัพไปช่วย กรุงศรีสัตนาคนหุตและเมืองเชียงใหม่ยกทัพไปตามกำหนด แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงถ่วงเวลาแกล้งเดินทัพไปช้า ๆ เพื่อรอให้ทัพหงสาวดีตีกรุงอังวะเสียก่อน หากทัพพระเจ้าหงสาวดีเพลี่ยวพล้ำแก่ทัพอังวะ สมเด็จพระนเรศวรจะได้ตีตลบหลังกองทัพหงสาวดี”การเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสมัยก่อนที่จะเข้าไปตีเมืองอังวะในประเทศพม่านั้น พระองค์ได้เดินทัพมายังเมืองงายในเขตอำเภอเชียงดาว ซึ่งปัจจุบันมีร่องรอยหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ ในตำนานได้กล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรสทรงนำกองทัพไทยจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อออกจากเมืองเชียงใหม่แล้วจึงได้แบ่งทัพแยกทางกัน สมเด็จพระนเรศวรฯทรงนำกองทัพไทยออกจากเชียงใหม่พร้อมกับพระเจ้าเชียงใหม่และลูกพระเจ้าเชียงใหม่ทั้งสามไปโดยทัพหลวงยกพยุหโยธา
ไปทางเมืองหางและโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรสทรงนำทัพอีกส่วนหนึ่งไปทางเมืองฝาง
นอกจากนั้นในตำนานพระธาตุเมืองน้อย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชายแดนอยู่ติดกับพื้นที่อำเภอเวียงแหง มีการกล่าวอ้างถึงสถานที่เสด็จเดินทัพผ่านบริเวณบ้านเมืองน้อยเพื่อเข้าไปตีพม่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ใช้เส้นทางเดินทัพไปยังประเทศพม่าโดยผ่านเมืองน้อย ซึ่งตอนนั้นเป็นชุมชนของชนเผ่าลัวะ (ปัจจุบันมีเจดีย์โบราณศิลปะล้านนาปรากฏให้เห็น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัย-อยุธยา)
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จถึงเขตเมืองหาง ทรงทัพหลวงที่ตำบลทุ่งแก้วหรือทุ่งดอนแก้ว แรมทัพในตำบลนี้ ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวร รับสั่งให้ข้าหลวงไปอัญเชิญสมเด็จพระเอกาทศรสเสด็จจากเมืองฝางไปเข้าเฝ้าในวันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำเดือน 6 ปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ.2136)
ในวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำเดือน 6 ก็เป็นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาได้ 50 ปีเสด็จอยู่ในราชสมบัติได้ 15 พระพรรษาสถานที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตได้ทรงเป็นพระสถูปเจดีย์ขึ้นที่เมืองหางในรัฐฉานประเทศพม่า ปัจจุบันพระสถูปเจดีย์อันเก่าแก่ได้ถูกทำลายลงหมดสิ้น ไม่มีแม้แต่ซากอิฐเหลือให้เห็น จนประมาณเมื่อปี พ.ศ.2502 ขณะนั้นรัฐบาลพม่าเริ่มปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวไทยใหญ่ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าเพื่อแยกการปกครองเป็นอิสระแต่พม่าไม่ยอม ชนกลุ่มน้อยชาวไทใหญ่จึงได้ก่อการกบฏขึ้นทั่วทุกหนทุกแห่งในรัฐไทยใหญ่ ได้มีการจัดตั้งกองทัพกู้อิสรภาพของชาวไทยใหญ่ขึ้นเพื่อสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลพม่า
เมื่อเวลาที่จะออกศึกสู่รบกับฝ่ายรัฐบาลพม่า กองทัพกู้อิสรภาพชาวไทยใหญ่เหล่านี้จะต้องไปบวงสรวงสักการะดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่สถูปเจดีย์ของพระองค์เสียก่อน ปรากฏว่าในการสู้รบทุกครั้งฝ่ายกองทัพกู้อิสรภาพชาวไทยใหญ่มักจะประสบชัยชนะฝ่ายรัฐบาลพม่าอย่างง่ายดาย ทำให้พม่าเคียดแค้นเป็นหนักหนา จึงได้ใช้ระเบิดทำลายพระสถูปเจดีย์เหล่านี้เสียหมด หนำซ้ำยังใช้รถแทร็กเตอร์เกรดทำลายจนราบเรียบไม่เหลือซากให้คณะกู้อิสรภาพไทยใหญ่มาสักการะได้อีกต่อไป ทำให้คนไทยพลอยไม่ได้มีโอกาสเห็นสถานที่ซึ่งวีรบุรุษของชาติสวรรคตอีกเลย
บริเวณที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้เรียกว่า “กองมูขุนหอคำไตย” เป็นภาษาไทยใหญ่หมายถึง “พระเจดีย์ของพระเจ้าแผ่นดินไทย” บริเวณนี้อยู่ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ทางด้านตะวันตกของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เหนือบริเวณนี้ขึ้นไปเล็กน้อย ปัจจุบันคือเมืองแกน เป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรพระนาภีอย่างหนัก ทรงตั้งทัพอยู่ ณ ที่นั่น คำว่า “แกน” เป็นภาษาล้านนาและไทยใหญ่แปลว่า “เจ็บปวดอย่างรุนแรง” เลยเมืองแกนนี้ไปอีกเล็กน้อยเป็นเมืองหาง
เมืองงายเป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกรีฑาทัพผ่านเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง มีผู้พบเสาพะเนียดอยู่เป็นจำนวนมากปรากฏอยู่ ต่อมาทางการได้เก็บรวบรวมและนำไปไว้ที่บริเวณพระสถูปแห่งนี้พร้อมกับซากอิฐจากพระเจดีย์สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เมืองหาง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาจยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเรื่องราวในพงศาวดารต่าง ๆ ทั้งที่เขียนจากไทยและพม่ายังมีข้อมูลบางส่วนไม่ตรงกัน โดยเฉพาะชื่อเมืองที่สวรรคต บ้างก็กล่าวว่าทรงเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง ขณะที่บางตำนานบอกว่าสวรรคตที่เมืองแหน จึงเป็นที่น่าสนใจว่าท้ายที่สุดแล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบของแผ่นดินสยามสวรรคตที่เมืองไหนกันแน่

 

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น