“พระมหามัยมุณี” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมา ที่คนไทยนิยมไปกราบไหว้

พระมหามัยมุณี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัยหนึ่งในห้าของเมียนม่า ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ฟุต ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่แห่งเมืองธรรมวดี ปัจจุบันอยู่ในแคว้นอาระกันทางภาคตะวันตกติดประเทศอินเดีย โปรดให้หล่อพระมหามัยมุณีขึ้น เมื่อราวปี พ.ศ. 688 และเนื่องจากที่เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงต้องหล่อเป็น 3 ท่อน แล้วนำมาประสานกันจนสนิทไม่มีรอยต่อ ว่ากันว่าความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามัยมุณีเลื่องลือไปไกล จนเป็นที่หมายปองของกษัตริย์เมียนมา กระทั่งมีความพยายามยกทัพไปตีเมืองยะไข่ และเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์นี้อยู่หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธามหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม เรื่อยมาจนถึงพระเจ้าจันสิทธะ กระทั่งมาประสบความสำเร็จในสมัยของพระเจ้าปดุง หรือ บูดอพญา ทรงเคลื่อนทัพไป
ยึดเมืองยะไข่ แล้วชะลอพระมหามัยมุณีข้ามแม่น้ำอิระวดีมายังกรุงมัณฑะเลย์ โดยสร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานเรียกว่า “วัดมหามัยมุณี” ทุกๆ เช้า ชาวเมียนมาแห่งเมืองมัณฑะเลย์นับร้อยคน จะพากันมานั่งรอเพื่อจะได้ร่วมพิธีล้างหน้าพระหรือล้างพระพักตร์พระมหามัยมุณีให้ได้สักครั้งหนึ่ง ด้วยความเชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มอบลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เสมือนเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และด้วยเหตุแห่งความเชื่อที่พระพุทธรูปองค์นี้มีชีวิต จึงเป็นที่มาของพิธีล้างพระพักตร์ให้พระองค์ทุกๆ เช้า เฉกเช่นกับมนุษย์ที่ต้องล้างแปรงฟันทุกวัน โดยมีพระสงฆ์รูปหนึ่งทำหน้าที่ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุณีทุกๆ วัน ตั้งแต่ราวตีสี่ครึ่งไปจนถึงรุ่งสางพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุณี จะเริ่มจากคณะกรรมการวัดทำการเปิดประตูเหล็ก ซึ่งถูกปิดล็อกอย่างหนาแน่น ขณะที่ชาวเมียนมาต่างพากันมานั่งรอ บ้างก็นั่งสมาธิ บ้างก็นั่งสวดมนต์ดังประสานกันกึกก้อง หลังจากที่เปิดประตูพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่ล้างพระพักตร์จะขึ้นไปบนแท่น ซึ่งวางพาดระหว่างตักขององค์พระ เริ่มจากการประพรมพระพักตร์ด้วยน้ำผสมเครื่องหอมที่ทำจากเปลือกไม้ที่เรียกว่าทานาคา จากนั้นก็ใช้แปรงขนาดใหญ่ขัดสีบริเวณพระโอษฐ์ แล้วจึงใช้ผ้าเปียกลูบไล้ไปบนหน้าพระพักตร์ จนมาถึงขั้นตอนสำคัญคือการใช้ผ้าขนหนูเช็ดพระพักตร์ให้แห้ง และขัดสีให้พระพักตร์สุกปลั่งเป็นเงาวามอยู่เสมอทุกๆ วัน ผ้าขนหนูที่ชาวบ้านนำมาวางไว้จะกองสูงเป็นตั้ง สูงเสียจนหลวงพ่อผู้ทำพิธีได้เพียงหยิบขึ้นมาลูบผ่านเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ผ้าทุกผืนได้สัมผัสพระพักตร์ สนองแรงศรัทธาของชาวเมียนมาโดยถ้วนหน้า บางคนที่ไม่ได้นำผ้าขนหนูมาก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปกราบไหว้บริเวณฐานองค์พระ หลังจากที่หลวงพ่อทำพิธีเสร็จก็จะมานั่งสวดมนต์ ขณะที่บริเวณด้านหน้าพระพักตร์มีการนำสำรับกับข้าว ผลไม้มาถวาย ประหนึ่งว่าหลังจากที่ล้างหน้าเสร็จก็จะต้องฉันภัตตาหารเช้าส่วนหลวงพ่อผู้ทำหน้าที่ล้างพระพักตร์รูปนี้ จะปฏิบัติภารกิจนี้ทุกวันโดยไม่มีแม้วันหยุด จนกว่าสังขารของท่านจะไม่เอื้ออำนวย คณะกรรมการวัดจึงจะมีการประชุมเลือกพระรูปใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติมานานกว่า 200 ปี นับตั้งแต่ที่พระมหามัยมุณีได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ พระมหามัยมุณี นับเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง และเป็นที่เคารพสักการะของคนไทย สังเกตว่าจะมีคนไทยนิยมเดินทางไปสักการะองค์พระมหามัยมุณีเป็นจำนวนมากไม่แพ้องค์เทพทันใจ หรือ “นัตโบโบยี” เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมียนม่าและชาวไทยจนถึงวันนี้ แรงศรัทธาของชาวมัณฑะเลย์ต่อพระมหามัยมุณีก็ยังไม่เสื่อมคลาย เพราะสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือทั่วทั้งองค์ถูกพอกพูนไปด้วยทองคำเปลว จนแลดูอวบอ้วนกว่าองค์จริงมาก ถึงกลับมีชื่อเรียกพระพุทธรูปองค์นี้อีกชื่อว่า “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม” เพราะเว้นแต่พระพักตร์ที่ดูเปล่งปลั่งเป็นประกายแล้ว กดลงไปที่ใดก็จะสัมผัสได้ความนุ่มนิ่มแห่งเนื้อทองคำที่ชาวเมียนม่านำมาปิดไว้
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น