๑ ธันวาคม ของทุกปี ‘วันดำรงราชานุภาพ’

เช้าวานนี้ (๑ ธ.ค. ๖๒) พิธีบำเพ็ญพระกุศลถวายเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นปีที่ ๗๖ ท่ามกลางแขกเหรื่อ ญาติมิตร พี่น้องเพื่อนข้าราชการเข้าร่วมงาน ณ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
‘บทความพิเศษ’ โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุลสมาชิกวุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, ประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังวรดิศ ๑ ธ.ค. ๖๒ “เที่ยงคืนเพิ่งผ่านพ้นไป ก้าวเข้าสู่วันใหม่ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๒ ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็น ‘วันดำรงราชานุภาพ’ ของทุกปี
สำหรับวันนี้เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ปีที่ ๗๖ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งยังทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับผิดชอบงานด้านการศึกษา, การต่างประเทศ, การทหาร, การสาธารณสุข, การปกครอง ทรงก่อตั้งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนนายร้อยทหารบก, โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาทิ
สมเด็จฯ ทรงประทานสอนแก่ศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ความซื่อสัตย์สุจริต จะก่อให้เกิดหลักธรรมประจำใจ เป็นหลักชัยนำหน้าชีวิตสู่ความสุขความสำเร็จ จงอย่าได้โลภโมโทสัน อวดรู้อวดดี วัดรอยเท้าผู้ใหญ่ แต่ที่จะรับสั่งบ่อยครั้งอันถือเป็นคำสอนชีวิตแก่ทั้งศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชา คือ จงอย่าเป็นคนหลงลืมตัวเป็นอันขาดในเมื่อมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอันใด ที่จะทำให้เสียผู้เสียคนอย่างน่าเสียใจ ในทางกลับกัน เมื่ออยู่ในที่สูง ยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติตนให้แลดูเล็ก เรียบง่าย มีความจริงใจ ด้วยความสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน จะไม่โง่เขลาที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นการฟ้องให้ใคร ๆ เห็นว่า เมื่อใหญ่โตในอำนาจหน้าที่ แต่นิสัยกลับไม่ใช่คนดีคนเดิมที่ผู้คนเคยรู้จัก
ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่สถาบันการศึกษาบางแห่งเคยทำโพลล์ไว้ ซึ่งมีผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกัน ความเสียหายของระบบทางการบริหารและการปกครองที่เป็นปัญหาสำคัญมีเพียงไม่กี่เรื่อง และ ๒ เรื่องสำคัญนั้น คือ (๑) ความหลงลืมตัว บุคคลประเภทนี้ชอบทำตนเป็นกิ้งก่าได้ทอง ชอบการประจบประแจงเอาใจ ซึ่งหากเป็นบุคคลเช่นว่า ก็น่าสมเพชเวทนา (๒) ความไม่ซื่อตรง ไม่ยึดหลักสุจริตธรรม นำมาซึ่งการทุจริตคดโกง เรื่องนี้แก้ไขได้ ไม่ใช่ด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง หาเสียงหาคะแนนด้วยประชานิยม การลบหลู่ดูหมิ่นต่อกัน แต่งเติมให้ร้ายป้ายสี แต่ต้องเป็นการช่วยกันเสริมสร้างแบบอย่างและเป็นกำลังใจแก่กัน มีต้นแบบ (Role Model) ในทุก ๆ ระดับของทุก ๆ องค์กรทั้งของภาครัฐและเอกชน จบลงด้วยการทำตัวชี้วัด ติดตามประเมินผล สิ่งใดแก้ได้แก้เลย ส่วนเรื่องใหญ่ที่แก้ไม่ได้ คงต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของบุคคลผู้มีความรับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ หากรู้แล้วยังไม่ทำ คงต้องมีกระบวนการตรวจสอบ และบังคับใช้ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายจริยธรรม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มิเช่นนั้นก็คงจะไม่เกิดประโยชน์อันใดทั้งสิ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น