CMEA ร่วมกับ มช. สำรวจดิจิตอลนอร์แมด ในเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เสนอปรับ SMART VISA เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ 4.0

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 กลุ่มผู้ประกอบการเชียงใหม่ (Chiang Mai Entrepreneurship Association : CMEA) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  แถลงข่าวผลการสำรวจกลุ่ม ดิจิตอลนอร์แมด (digital nomads)โดย Lily Bruns พร้อมด้วย Brittnee Bond จาก Chiang Mai Entrepreneurship Association ณ Chiangmai & Co (ปันสเปซ สาขาเวียงแก้ว)
กลุ่ม ดิจิตอลนอร์แมด (digital nomads) ซึ่งคือกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานด้านดิจิตอล โดยเดินทางมาพักในเชียงใหม่ และสามารถทำงานในสถานที่ต่าง ๆ เช่น Co-working space ต่าง ๆ ได้ ซึ่งเชียงใหม่ ถือ เป็นเมืองที่ได้รับความนิยมจาก กลุ่มดิจิตอลนอร์แมด อันดับต้น ๆ ของโลก โดย คณะเศรษฐศาสตร์ มช. และ CMEA ร่วมเก็บข้อมูล ข้อมูลที่รวบรวมจากผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 ราย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย รูปแบบการเคลื่อนไหว และข้อกังวลเกี่ยวกับวีซ่าของบรรดา Digital Nomad ในเชียงใหม่ Digital Nomad ผู้ทำธุรกิจที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ และผู้รับจ้างอิสระ สะท้อนถึงกลุ่มประชากรใหม่จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความเข้าใจ และยังไม่มีตัวแทนที่ชัดเจน
เชียงใหม่เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่เป็นศูนย์รวมของ Digital Nomad และนับเป็นที่ ๆ มีประชากรกลุ่มนี้อยู่อย่างหนาแน่น ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การสำรวจนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และมีความแม่นยำ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งสำหรับการสร้าง หรือดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นการดึงดูด และรักษาชาวต่างชาติ ผู้มีความสามารถในเชียงใหม่
จากการสำรวจพบว่ากลุ่มดิจิตอล นอร์แมด มาจาก 44 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อายุประมาณ 30-40 ปี  มีอาชีพทางด้านโค้ดดิ้ง การตลาด และธุรกิจออนไลน์ และ มีการศึกษา ในระดับปริญญา มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 10 ปี และ สร้างรายได้กว่า 1 แสนบาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายแก่เศรษฐกิจในเชียงใหม่ เฉลี่ยคนละกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน
โดยกลุ่มดิจิตอล นอร์แมดนี้เริ่มเข้ามา ในเชียงใหม่กว่า 10 ปี แต่เริ่มนิยมเข้ามามากขึ้นตั้งแต่ปี 2557 และเข้ามามากที่สุดปี 2560 โดยส่วนใหญ่จะเข้ามาอยู่มากในช่วงเดือน ตุลาคม – มกราคม ในฤดูหนาว และน้อยลงในช่วงฝุ่นควัน โดยมีสถานที่ทำงานที่นิยม คือ co-working space โดยเฉพาะ CAMP ที่ห้างเมญ่า และ Pun Space
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กลุ่มดิจิตอล นอร์แมดนี้สร้างไม่เพียงเฉพาะ การใช้จ่ายประจำวัน กว่าคนละ 35,000 บาทต่อเดือน แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่าย ในการท่องเที่ยว เฉลี่ยปีละกว่า 2 แสนบาท แต่เนื่องจาก ระบบวีซ่าของไทย ในปัจจุบันทำให้กลุ่มนี้ต้องเดินนทางออกนอกประเทศเพื่อต่อวีซ่า และมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในการออกนอกประเทศอีกกว่า 3 แสนบาท โดยเงินส่วนนี้  อาจจะมีการปรับนโยบายให้ ดิจิตอล นอร์แมด สามารถทำวีซ่าในไทยได้สะดวก และมีระยะเวลานานมากขึ้น เพื่อให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายของดิจิตอล นอร์แมดสูงขึ้นได้ โดยการสำรวจพบว่า ดิจิตอล นอร์แมด มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการหาทางต่อวีซ่าผ่านนายหน้าต่าง ๆ กว่า 6 หมื่นบาทต่อราย
สำหรับการสำรวจครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในเชียงใหม่ โดยทาง คณะเศรษฐศาสตร์ มช. จะร่วมกับ CMEA ต่อไป ในการวิเคราะห์คุณค่าทางสังคม และเศรษฐกิจที่ ดิจิตอล นอร์แมด ได้สร้างให้เชียงใหม่ เพื่อเสนอแนวทางให้รัฐบาล สามารถสร้างคุณประโยชน์จากการที่เชียงใหม่ มีดิจิตอล นอร์แมด จำนวนมาก เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ธุรกิจท้องถิ่น หรือเยาวชน การเชื่อมต่อธุรกิจ เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
โดยการสำรวจยังพบว่า โฮจิมินห์ ของเวียดนามถือเป็นคู่แข่ง สำคัญของเชียงใหม่ ซึ่งได้เปรียบในเรื่องวีซ่า จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญและหาทางพัฒนาโดยเร็วต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น