ไปดูอดีตเมืองพะเยาที่ “หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ”

เมืองพะเยาเป็นเมืองเล็ก ๆ เงียบสงบ ตั้งอยู่ริมฝั่งบึงน้ำขนาดใหญ่ หรือที่รู้จักกัน คือ กว๊านพะเยา ปัจจุบันกว๊านพะเยาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ จ.พะเยาไปแล้ว เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน จ.พะเยา จึงมักแวะมาพักผ่อนตามบริเวณริมกว๊านแห่งนี้ รอบ ๆ กว๊านพะเยายังเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิหารพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง นอกจากนั้นยังมีหอวัฒนธรรมนิทัศน์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของ จ.พะเยา ที่รวบรวมเอาโบราณวัตถุ เอกสารสำคัญ รวมถึงข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นมาทั้งด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพะเยา จัดแสดงให้นักท่องเที่ยว และผู้สนใจเข้าชมหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ตั้งขึ้นจากความคิดของพระธรรมวิมลโมลี รองเจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ที่ต้องการจะสร้างอาคารเก็บโบราณวัตถุที่ท่านได้รวบรวมเอาไว้กว่า 40 ปี ขึ้นเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.พะเยา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 ภายในจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของเมืองพะเยาโดยแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ได้แก่ ห้องก่อนจะเป็นอาณาจักร กล่าวถึงความสัมพันธ์ของคนยุคดึกดำบรรพ์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่บนดอยมีอาชีพทำไร่กับกลุ่มที่อาศัยในที่ราบมีอาชีพเพาะปลูก ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้เกิดชุมชนที่ราบในเวลาต่อมา จนถึงสมัยของขุนเจื่อง กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งอาณาจักรภูกามยาว ผู้นำด้านวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำโขง ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนกันของคนพะเยา ต่อมาถึงยุคของพญางำเมือง ซึ่งจัดแสดงถึงความสัมพันธ์ของ 3 กษัตริย์ ได้แก่ พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย พญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรภูกามยาว
ห้องต่อมาชื่อ พะเยายุครุ่งเรือง จัดแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรภูกามยาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 สมัยของพญายุธิษฐิระ ซึ่งถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองในด้านพระพุทธศาสนาอย่างสูงสุด จากนั้นเป็นห้องเครื่องปั้นดินเผา จัดแสดงเรื่องราวเครื่องปั้นดินเผาของเมืองพะเยา ซึ่งมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 พบมากที่สุดที่บ้านบัว ต.แม่กาหลวง อ.เมืองพะเยา กระทั่งถึงยุคเสื่อมของเมืองพะเยา เมื่อพม่าเข้าครอบครองอาณาจักรล้านนา รวมทั้งเมืองพะเยา ทำให้ชาวพะเยาถูกกวาดต้อนไปอยู่เวียงจันทน์ ปี พ.ศ. 2318 ถือเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูเมืองพะเยา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมพระเจ้ากาวิละสามารถขับไล่พม่าออกไปจากล้านนา ในห้องนิทรรศการนี้จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยาในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองนครในตำแหน่งพระยาประเทศอุดรทิศ ห้องนี้จัดแสดงประวัติศาสตร์ของเจ้าเมืองพะเยาตั้งแต่องค์แรกจนถึงองค์สุดท้าย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมือง เป็นมณฑลเทศาภิบาลทำให้หลายเมืองในล้านนาเกิดเหตุการณ์จราจล ปี พ.ศ. 2445 เมืองพะเยา
ได้มีพวกเงี้ยวเข้าปล้นบ้านเมือง ห้องกบฏเงี้ยว แสดงเรื่องราวของเหตุการณ์ครั้งนั้นพร้อมกับแสดงอาวุธโบราณที่พวกเงี้ยวใช้ เข้าปล้นเมืองพะเยานอกจากนั้นบริเวณชั้นล่าง จัดแสดงลานศิลาจารึกที่บ่งบอกความเป็นเมืองนักปราญช์มาตั้งแต่อดีต และได้ค้นพบจารึกมาแล้วกว่า 117 หลัก ใกล้กับลานศิลาจารึก เป็นห้องนิทรรศการเกี่ยวกับกว๊านพะเยา ห้องนี้จัดแสดงเรื่องราวและตำนานของกว๊านพะเยารวมถึงพันธุ์ปลา พันธุ์พืช และเครื่องมือในการทำมาหากินของคนพะเยา
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา จึงเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมเรื่องราวของเมืองพะเยามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคหลังประวัติศาสตร์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ 054-410058
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น